วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

หมอเองก็ลำบากใจ เมื่อต้องบอกข่าวร้ายกับคุณ

ละครไทยเกือบทุกเรื่องจะมีช่วงเวลาที่พระเอก หรือนางเิอกเฉียดตาย และแทบต้องกลั้นใจตามตัวละครทุกครั้งไปเมื่อได้เห็นคุณหมอเดินกลับออกมาจากห้องฉุกเฉิน (หรือห้องผ่าตัด ก็แล้วแต่ผู้แต่จะเลือกเอา) เพื่อบอกอาการคนไข้ ณ วินาทีทุกคนทั้งลุ้นทั้งกลัว กลัวจะเป็นข่าวร้าย และลุ้นในเป็นข่าวดี (แต่ทุกคนก็เชื่อว่ามันจะเป็นข่าวดี แม้เป็นข่าวร้ายพระเอกก็จะฟื้นได้ ถ้านางเอกไปนั่งร้องไห้ข้างเตียง 555) ความจริงแล้วบทบาทของหมอดูง่าย ตามบท "ตอนนี้คนไข้พ้นขีดอันตรายแล้วครับ" หรือไม่ก็ "เสียใจด้วยครับ ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป" แต่ในชีวิตจริง การเล่นบทหมอก็ไม่ง่ายขนาดนั้นค่ะ

ลองคิดดู จะมีซักกี่คนที่อยากบอกข่าวร้ายกับคนอื่น บอกแล้วต้องเห็นภรรยาผู้ป่วยเป็นลมล้มพับ ลูกหลานร้องไห้ หรือทุกคนอยู่ในภาวะเศร้าสลด การบอกเรื่องความตายที่ว่าลำบากแล้ว แต่นั่นเป็นแค่การบอกข่าวร้ายกับญาติๆผู้ป่วยเท่านั้น ผู้ป่วย(คนที่ตาย)คงไม่ได้รับรู้ด้วย (หรือไม่ก็คงจะรู้ตัวอยู่แล้ว) สิ่งที่ยากลำบากยิ่งกว่าคือการบอกข่าวร้ายกับผู้ป่วยเอง อย่างการบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือเป็นเิอดส์ หมอเองก็กลัวค่ะ กลัวว่าบอกไปแล้วผู้ฟังจะร้องไห้ฟูมฟายเป็นลม หรือว่าอยากฆ่าตัวตาย!!!

เชื่อมั๊ยว่าศิลปะการบอกข่าวร้ายเป็นหัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งในการเรียนหมอเลยทีเดียว อย่างที่บอก ถึงแม้ว่ายังไงเขาก็ต้องรู้ความจริง แต่เราก็อยากให้เขาสะเทือนจิตใจน้อยที่สุด ได้เตรียมตัวเตรียมใจก่อนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเอง หรือว่าเป็นญาติๆ อันนี้เป็นสำคัญมาก และอาจมากกว่าการรักษาคือ นอกจากร่างกายเขาจะป่วยแล้ว ซึ่งบางโรคอาจรักษาไม่ได้ แต่เราก็พยายามไม่ให้ "จิตใจ"ของเขาป่วยไปด้วย

เอาหล่ะค่ะ เล่ามาตั้งยาวละว่าการบอกข่าวร้ายสำคัญขนาดไหน วันนี้อยากมาเล่าวิธีการบอกข่าวร้ายให้ทุกคนได้อ่านกัน อาจจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันกันเองก็ได้นะคะ เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยมีโอกาสบอกข่าวร้ายกับคนรู้จักบ้าง ไม่มากก็น้อย
 ศิลปะการบอกข่าวร้าย, breaking bad news, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้


รู้ความคาดหวัง
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าคนที่กำลังจะได้ยินข่าวร้าย คาดหวังจะได้ยินอะไรจากเรา อย่างเช่นถ้าคนไข้ที่สบายดีมาตลอด เกิดป่วยหนัก ล้มหมอนนอนเสื่อขึ้นมา เราอาจจะถามว่า สงสัยบ้างมั๊ย หรือคิดว่าตัวเองเป็นอะไร คิดว่าอาการร้ายแรงมั๊ย บางคนอาจตอบกลางๆว่า "ไม่รู้" แต่บางคนอาจจะตอบว่า "ก็คงไม่เป็นอะไรมากมั๊งครับ เพราะว่าสบายดีมาตลอด" ถ้าเรากำลังจะบอกว่าเขาเป็นมะเร็ง เราก็จะได้รู้ว่าเขาไม่ได้เตรียมใจเรื่องนี้มามากนัก อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้ เราอาจไม่จำเป็นต้องทำถ้าเรารู้อยู่แล้ว เช่นถ้าเป็นเพื่อนกันรู้จักกันอยู่แล้ว หรือเคยคุยเรื่องนี้กันมาก่อนแล้ว อย่างคนไข้บางคนก็บอกตั้งแต่แรกแล้วว่า "ทำใจไว้แล้วหมอ ว่าเป็นไปได้ที่ตัวเองจะเป็นมะเร็ง" แบบนี้ เราก็จะรู้ว่า เขาได้เตรียมใจมาแล้ว 

ขั้นตอนนี้ทำเพื่อใ้ห้เรารู้ว่าเรากำลังจะเจอปฏิกิริยาอย่างไรหลังจากบอกข่าวร้าย ถ้าเขาเตรียมใจมาก็คงปฏิกิริยาไม่รุนแรง แต่ถ้าเขาไม่เตรียมใจมา เราก็ต้องเตรียมใจแทนว่าเราอาจจะเจออาการร้องไห้ฟูมฟาย อยากฆ่าตัวตาย หรืออาจถึงเป็นลม เป็นต้น

แสดงสัญญาณเตือนก่อน
เวลาที่กำลังจะบอกข่าวไม่ดี การค่อยๆแสดงสัญญาณทีละนิด จะดีกว่าการโยนทุกอย่างทีเดียวเหมือนขว้างระเบิด คนไข้อาจจะรับไม่ค่อยไหวเท่าไหร่ อย่างเรื่องมะเร็ง ก็อาจเริ่มด้วยสีหน้าที่กังวลเล็กน้อยของหมอ ถามคนไข้ว่า คิดไว้บ้างมั๊ยว่าผลจะเป็นอะไรได้บ้าง (ถามความคาดหวัง) แล้วก็บอกว่า "ผลไม่ค่อยดีเลยนะคะ มีความผิดปกติ ตรงโน้นตรงนี้ เป็นก้อนแบบนั้นแบบนี้" แล้วค่อยสรุปว่า คิดว่าก้อนเหล่านี้เป็นเนื้อร้าย หรือ มะเร็ง  วิธีนี้คนฟังจะค่อยๆซึมซับ และยังพอมีเวลาทำใจบ้าง ดีกว่าบอกว่า "คุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย" แต่สำหรับบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าวิธีนี้ดูลุ้นๆ อ้อมๆ ผู้ป่วยใจร้อนบางคนก็ถึงกับขัดและบอกหมอว่า "เอาตรงๆเลยดีกว่าหมอ ไม่ต้องอ้อม" อันนี้ก็คุณขอมา เราก็จัดให้ค่ะ ก็คงต้องบอกตรงๆกันไปเลย แต่ส่วนใหญ่วิธีค่อยๆเล่าทีละนิด จะดีกว่าค่ะ

ให้ความหวัง
ว่าง่ายๆก็คือการปลอบใจ คือหลังจากบอกข่าวร้ายแล้ว ถ้าเป็นหมอก็จะให้ความหวังก็คือบอกว่า ถ้าเป็นอันนี้แล้วจะต้องทำยังไงต่อไปเพื่อช่วยคนไข้ แต่ถ้าหลายๆคนจะเอาไปใช้กับการบอกข่าวร้ายอื่นๆ การให้ความหวังก็คือการให้กำลังใจ "ไม่เป็นไรนะ เรื่องมันแล้วให้แล้วไป เราค่อยเริ่มต้นใหม่" "ไม่เป็นไรทุกคนให้อภัย" ฯลฯ

โอเคค่ะ ทั้งหมดนี้เป็นกลเม็ดที่เหล่าหมอใช้กัน เมื่อต้องบอกข่าวร้ายคนไข้ (ซึ่งต้องบอกบ่อยซะด้วย ก็แน่นอนแหล่ะ ่ไม่งั้นจะเรียกว่า คน"ไข้" ได้เหรอ) หวังว่าหลายๆคนจะได้ประโยชน์กับการเอาไปประยุกต์ใช้นะคะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ