วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

โรคเกราะพะ กระเพาะ

โรคกระเพาะเป็นสาเหตุอาการปวดท้องที่พบบ่อยมาก ไม่แพ้จำนวนคนที่ใช้ ipad, iphone เลยทีเดียว(เกี่ยวกันตรงไหน) เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคกระเพาะมามากมาย รวมทั้งยารักษาโรคกระเพาะก็อาจจะรู้จักเป็นอย่างดี วันนี้เราจะมาเล่าถึงโรคกระเพาะ และบางอย่างเกี่ยวกับโรคกระเพาะที่คุณยังไม่รู้

โรคกระเพาะเกิดจากอะไร
โรคกระเพาะเป็นการอักเสบของผนังกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหลายระดับ เหมือนกับแผลที่ผิวหนัง มีตั้งแต่แดงๆเจ็บ เป็นรอยถลอก หนักมากก็เป็นแผลลึกเลือดออก ผนังกระเพาะอาหารก็เช่นกัน มีตั้งแต่การอักเสบ เหมือนรอยแดงเจ็บๆบนผิวหนัง เป็นแผลเล็กน้อยแบบแผลถลอก ไปจนถึงแผลลึกเลือดออกเลยทีเดียว
โรคกระเพาะ, แผลในกระเพาะอาหาร, ปวดท้องลิ้นปี่, peptic ulcer, gastrits, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้


แล้วแผล หรือการอักเสบเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยปกติแล้ว กระเพาะของเราทำงานหนักมากทุกครั้งหลังจากเรากินอาหาร มันมีหน้าที่ย่อยอาหารต่อจากปากของเรา (ดังนั้นนั้นถ้าอยากแบ่งเบาภาระกระเพาะ ต้องเคี้ยวให้ละเอียด) ย่อยเจ้าขาหมูชิ้นโตๆเนี๊ย เละจนเป็นโจ๊กเลยทีเดียว กรรมวิธีของกระเพาะก็คือการบีบตัว และใช้น้ำย่อยกับกรดมาใช้ย่อย นี่แหละตัวปัญหา "กรด" นึกถึงข่าวไม่นานมานี้ที่มีสาวเกิดอาการหึงห่วงจนเอาน้ำกรดไปสาดสาวอีกคน เป็นแผลไหม้เลยทีเดียว กรดในกระเพาะอาหารก็มีฤทธิ์แรงไม่แพ้กรดเหล่านั้นเลย แล้วเจ้ากระเพาะมันทนได้ไงเนี๊ย คำตอบก็คือ โดยปกติกระเพาะจะมีการสร้างสารเป็นเบสมาต้าน เคลือบผิวตัวเองไว้ให้ปลอดภัย แต่เกราะป้องกันกระเพาะนี้ถูกทำลายได้จากสาเหตุต่างๆ

-ภาวะเครียดทำให้เกิดการสร้างกรดมากกว่าปกติ
-การกินอาหารไม่ตรงเวลา เพราะกรดถูกสร้างแล้ว ถ้ามีอาหารเข้าไปผสมก็จะลดความเข้มข้นลง แต่พอไม่มีอาหารเจ้ากระป้องกันกระเพาะก็เลยสู้กรดไม่ได้ พ่ายแพ้กันไป
-รับประทานอาหารรสจัดมากๆ กระเพาะบางคนสามารถสร้างเกราะได้ไม่แข็งแรงเท่าไหร่ ครั้นถูกซ้ำเติมด้วยพริก น้ำส้มสายชู มะนาว ที่แสนเผ็ดร้อน ก็เลยต้องยอมแพ้ ยอมรับว่าอันนี้แล้วแต่คนจริงๆ บางคนที่เป็นอาจน้อยใจว่าทำไมเพื่อนกินอาหารเผ็ดกว่าเราอีกไม่เห็นเป็นอะไร อันนี้ก็ต้องทำใจ เพราะเราอาจมีปัจจัยอื่นๆส่งเสริมให้เป็นโรคกระเพาะเอาง่ายๆ
-ติดเชื้อ อันนี้ก็เป็นโชคร้ายเช่นกัน มีเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งซึ่งพึ่งได้รับการค้นพบหลายปีก่อน ชื่อว่า H.pyroli มันทำให้การสร้างเกราะป้องกันของกระเพาะเสียไป บางคนไปรักษาโรคกระเพาะแต่ได้ยาฆ่าเชื้อมาก็ไม่ต้องสงสัย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคกระเพาะจากเชื้อนี้ การจะรู้ได้ว่าโรคกระเพาะของเราเป็นจากเชื้อตัวนี้หรือไม่ ต้องได้รับการส่องกล้องเพื่อตรวจหาเชื้อตัวนี้เสียก่อน ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ในประเทศของเราส่วนใหญ่จึงรักษาดูก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นจริงๆจึงจะทำการส่องกล้องเพื่อหาเชื้อนี้
-ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAID) บางคนอาจรู้จักยากลุ่มนี้อยู่ เช่น Ibuprofen, Diclofinac ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์แก้ปวดได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นปวดหัวปวดหลัง ปวดเข่า ปวดขา (ไม่รวมปวดตับ กับปวดใจนะตัวเอง) การกินระยะสั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในคนหนุ่มสาว ถือว่ายังปลอดภัย แต่การกินติดต่อเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุถือว่าอันตราย และอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะได้เลยทีเดียว
นอกจากนั้นก็มียากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งบางคนที่มีโรคประจำตัวต้องกินยานี้ตลอดต้องระวังโรคกระเพาะที่จะตามมาได้

อาการเป็นยังไง
อาการที่พบบ่อยที่สุด และเรียกว่าเป็นอาการแบบตามตำราเป๊ะคือ อาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่ อาการจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร เช่น เป็นตอนท้องว่าง หรือ หลังกินอาหารมากๆ หรือ หลังกินอาหารรสจัด แต่ความเป็นจริง สิ่งที่หมอทั้งหลายเรียนกันมาจากตำรา กับ ความเป็นจริง มันไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น โรคกระเพาะมีอาการได้หลายแบบมากๆ เช่น
-บางคนปวดท้องที่ลิ้นปี่ แต่เป็นปวดบีบๆ เป็นพักๆ เดี๋ยวเป็น เดี๋ยวหาย ไม่ได้สอดคล้องกับการกินอาหารใดๆ อาการปวดบีบๆนี้เป็นได้ตั้งแต่พอรำคาญ จนถึงต้องลงไปนอนดิ้นเลยทีเดียว
-บางคนปวดท้องแถวๆสะดือ แต่ค่อนไปซ้าย หรือขวา อาการปวดเป็นแบบแสบๆ ไม่สัมพันธ์กับการกินอาหารเหมือนกัน
-บางคนรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจไม่อิ่ม คนไข้ที่มีอาการนี้มักจะตกใจมาก เพราะบางคนรู้สึกเหมือนใจจะขาด หายใจไม่ออก ข้อควรระวังคือ ถ้าคุณเป็นคนอายุไม่มาก 20 กว่า 30 ต้นๆ ร่างกายแข็งแรงมาตลอด อาการนี้อาจเป็นเพียงอาการของโรคกระเพาะ แต่ถ้าเป็นคนที่อายุมากหน่อย มีโรคประจำตัวอย่างความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อาการนี้อาจบ่งบอกถึงโรคปอด หรือโรคหัวใจได้ ควรรีบไปพบแพทย์ด่วนนะคะ

สิ่งที่ต้องระวัง และน่ากลัวสำหรับโรคกระเพาะคือ อาการเลือดออก อย่างที่บอก แผลที่กระเพาะอาหารถ้ารุนแรงก็อาจเป็นแผลลึกที่มีเลือดออกได้ แต่เลือดอยู่ในท้อง จะรู้ได้ยังไงว่าเลือดออก คำตอบคือ "อุจจาระ" ค่ะ เลือดที่ออกมาจากกระเพาะจะผ่านมาตามลำไส้แล้วก็ถ่ายออกมา ซึ่งตอนนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีดำและเหนียวๆเหมือนยางมะตอยเลย  และถ้าเลือดปริมาณเยอะมากจะอาจจะเป็นเลือดสดออกมาเลยก็ได้ หรือบางคนถ้าคลื่นไส้อาเจียน ก็อาจจะอาเจียนเป็นเลือดเลยก็ได้ ดังนั้นโรคกระเพาะควรรีบรักษาและดูแล โดยเฉพาะถ้ากินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID อย่างที่กล่าวไป ก็ควรพยายามเลี่ยงการกินระยะยาวนะคะ

ไม่ต้องตรวจเลือดเลยหรอ
หลายคนสงสัยว่า อาการปวดท้องจะแย่อยู่แล้ว ไม่ต้องตรวจเลือดเช็คหน่อยเหรอ ว่าเป็นอะไร อันนี้เป็นคำถามที่หมอทุกคนอยากให้ทุกคนเข้าใจ การตรวจเลือดไม่ใช่คำตอบของทุกอย่างนะคะ การตรวจเลือดเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรค จริงอยู่ บางโรคไม่สามารถวินิจฉัยได้ถ้าไม่ได้ตรวจเลือด และบางโรคสามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือดแม้ไม่มีอาการใดๆ แต่โรคส่วนใหญ่ วินิจฉัยได้จากอาการที่ผู้ป่วยเล่า ร่วมกับการตรวจร่างกายของแพทย์ (ที่หมอเอาหูฟังไปฟังมา กดท้องคุณไปมานั่นแหละ) เพราะฉะนั้นอย่าได้รำคาญเลยค่ะ ถ้าหมอของคุณจะเอาแต่ถามๆๆๆๆๆๆ แล้วก็กดตรงโน้นตรงนี้ ถามอยู่นั่นแหละว่าปวดมั๊ย กดแล้วปวดมั๊ย ปล่อยแล้วปวดมั๊ย (ปวดจะแย่อยู๋แล้ว รีบๆรักษาซะที) เพราะว่าทั้งหมดที่ถาม และทั้งหมดที่ตรวจก็เพื่อการวินิจฉัยทั้งสิ้น การตรวจเลือดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของการวินิจฉัยค่ะ

รักษายังไง
การรักษาสำหรับแต่ละคนจะแตกต่างกันไป
มีเลือดออกในกระเพาะ
อันนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ และต้องนอนโรงพยาบาล เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้อาจจะน่ากลัว และน่าสยองซักหน่อย (แต่ก็อยากรู้ใช่มั๊ยหล่ะ) ถ้าคุณบอกว่ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดจำนวนมาก หรือถ่ายดำเหนียวเป็นยางมะตอย แพทย์จำเป็นต้องใส่สายสวนจมูก (Nasogastric tube) ใส่ทำไม มันเป็นท่อที่ใส่ทางจมูก แล้วลงไปตามทางเดินอาหารจนถึงกระเพาะ แล้วดูดสิ่งที่อยู่ในกระเพาะออกมาดูว่า เลือดออกจากกระเพาะจริงหรือไม่ อันนี้ไม่ต้องให้ยาสลบ ไม่ต้องให้ยานอนหลับ ใส่ได้เลยที่ห้องตรวจ ฟังดูน่าสยดสยอง แต่อาจจะรำคาญ ระคายเคืองในคอเหมือนจะอาเจียนอยู่ แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษา ถ้ามีเลือดออกจริงๆ คุณจะต้องไปส่องกล้อง อันนี้ดีหน่อยเพราะเราทำกันในห้องผ่าตัด แต่ไม่ได้ผ่าอะไรนะคะ ให้ยานอนหลับ แล้วก็ส่องกล้องจากทางปากนี่แหละ ลงไปดูในกระเพาะว่ามีเลือดออกตรงไหน ทำการห้ามเลือดก็เป็นอันเสร็จ แล้วก็กลับมากินยา หรือฉีดยา เหมือนกับคนไข้ที่ไม่มีเลือดออก

ไม่มีเลือดออก
ถ้าไม่มีเลือดออกการรักษาก็เป็นยา ซึ่งมีทั้งยาฉีด ยากิน แล้วแต่ความรุนแรง พระเอกของงานนี้ก็คือยาลดกรดในกระเพาะอาหาร กลไกก็คือลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนยาเคลือบกระเพาะอย่างยาน้ำสีขาวๆ เหมือนนมเนี๊ย(Alum milk ) ความจริงเป็นแค่ตัวประกอบของเรื่องช่วยลดอาการปวดเท่านั้นเอง
พระรองก็คือยาฆ่าเชื้อ ที่เป็นพระรองเพราะว่าถ้าพระเอกทำงานไม่สำเร็จ เราก็ต้องไปส่องกล้องตรวจดูว่ามีการติดเชื้อ H.pylori ไม่ ถ้ามียาฆ่าเชื้อถึงจะมามีบทบาท

สิ่งสำคัญคือ แผลในกระเพาะก็เหมือนแผลที่ผิวหนังที่ถูกน้้ำร้อนลวก ช่วงแรกก็ปวดแสบปวดร้อน พอรักษาไประยะหนึงก็หายปวด แต่แผลมันก็ยังอยู่ตรงนั้น ยังไม่หายดี ต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่าจะเรียบเสมอเหมือนคนอื่นเขา แผลในกระเพาะอาหารก็ต้องการเวลาในการหายเช่นกัน กว่าจะหายปวดก็ต้องกินยาไประยะหนึ่ง อาจจะเกือบอาทิตย์ และแม้หายปวดแล้วก็ยังต้องกินยาต่อไปอีกอย่างน้อย 6-8 เดือน ถึงจะหายจริงๆ ดังนั้นได้ยาไปแล้ว อย่าลืมต้องกินต่อเนื่องเพื่อให้แผลหายสนิทนะคะ

จบเรื่องโรคกระเพาะอาหาร วันหลังจะมีโรคปวดท้องอะไรมานำเสนออีก อย่าลืมติดตามนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ