วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

ยาแก้ปวด ลดไข้ ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา (ความจริงก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดเรื่องปัจจัย 4 ขึ้นมา แต่ทุกคนก็เชื่อตามนั้นมาตลอด ) แน่นอนทุกคนต้องเคยเจ็บป่วย และเคยกินยามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือยาแผนโบราณ ยาแก้ปวดเป็นยาตัวหนึ่งที่ใช้กันบ่อยมาก เรียกกันว่าเป็นหนึ่งในยาสามัญ "ประจำบ้าน" (เดาเอาเองว่าทุกบ้านต้องมี) ความจริงแล้วยาแก้ปวดนี้มีอยู่หลายตัว หลายยี่ห้อ แล้วเรารู้จักยาแก้ปวดเหล่านี้มากพอรึยัง??
ยาแก้ปวด, พาราเซตามอล, NSAID, Tramol, อันตรายจากยาแก้ปวด, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้


ยาแก้ปวดมีหลายชนิด ทีี่นิยมกันก็จะมี "พาราเซตมอล" คุ้นชื่อมากที่สุด (บางคนก็รู้จักในชื่ออื่นๆ เช่น ซารา, ไทลินอล ความจริงก็คือพาราเซตมอลเนี๊ยแหละค่ะ) รองๆลงมายาเป็นที่แรงขึ้น และมีหลายคนโดยเฉพาะคนที่เคยมีอาการปวดกล้ามเนื้อจะรู้จักก็ได้แก่ brufen, Fenac, Ponstan (หรือยาแก้ปวดประจำเดือน), tramol และถ้าบังเอิญบางคนได้ดูแลญาติ หรือคนใกล้ชิดที่มีอาการปวดจากโรคมะเร็ง ก็อาจจะรู้ว่า morphine (มอร์ฟีน!!!) เป็นยาแก้ปวดที่ได้ผลดีอีกตัวหนึ่ง (แต่ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้นนะคะ) เอาหล่ะ มีหลายตัวขนาดนี้ อยากจะเล่าสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับยาแก้ปวดเหล่านี้นะคะ

อันแรก ยาแก้ปวด ขึ้นชื่อว่า "แก้ปวด" ความจริงแล้วไม่ได้ช่วย "รักษาโรค" โดยตรงหรอกนะคะ มันแค่ช่วยลดอาการเท่านั้น จริงๆแล้วการรักษาที่เหมาะสม คือการรักษา"สาเหตุ" (ตามหลักของพระพุทธเจ้า ผลย่อมเกิดจากเหตุ สาธุ :)) การกินยาแก้ปวดเป็นเพียงการลดอาการเพื่อซื้อเวลาระหว่างที่เรากำลังแก้สาเหตุอยู่ อันนี้เป็นคำตอบที่บางคนกินยาแล้วจะรู้สึกว่า พอยาหมดฤทธิ์ก็เป็นใหม่อีก ไม่หายซักที แต่บางคนก็เถียงว่าบางทีกินแล้วก็หายนะ ไม่เห็นกลับมาเลย นั่นเป็นเพราะโรคบางโรค สามารถ"หายได้เอง"โดยไม่ต้องอาศัยยา พอได้กินยาแก้ปวด และพักผ่อนซักหน่อยก็หายเลย (เลิศมากๆๆ) และอีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะยาแก้ปวดบางตัว มีฤทธิ์อท่นด้วยที่ช่วยรักษาโรค ก็เลยหาย(เรียกว่า all in one)

ยาบ้านๆต้องพาราเซตามอล
พูดถึงยาตัวแรก ที่ขายกันเยอะสุด และใช้กันเยอะสุด ก็คือ พาราเซตมอล บางคนจะรู้สึกไฮโซขึ้นเวลาบอกว่ากิน ไทลินอล มา แต่ความจริงแล้วก็คือยาตัวเดียวกันนะคะ ไทลินอลเป็นชื่อยี่ห้อ แต่พาราเซตมอลเป็นชื่อตัวยา (เหมือนบอกว่าซื้อ ipad หรือ galaxy note กะซื้อ tablet หน่ะค่ะ) ยาตัวนี้เรียกว่าเป็นนิยมมาก เพราะว่ามีดีจริงๆค่ะ เป็นยาลดอาการปวดได้ดีระดับหนึ่ง อาการปวดทั่วๆไปกินแล้วจะดีขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยมาก ผลข้างเคียงที่ต้องระวังคือกินมากเกินไป จะมีพิษต่อตับ ทำให้เกิดตับอักเสบได้ โดยทั่วไป เราแนะนำไม่เกินวันละ 8 เม็ด(เม็ดละ 500 มิลลิกรัม) ใน 24 ชั่วโมง (แม้แต่ผู้ป่วยโรคตับถ้ายังเป็นไม่มาก ยาในปริมาณนี้ก็ยังปลอดภัยเลยนะคะ) อันที่จริงปริมาณที่จะทำให้เกิดพิษได้คือ 20 เม็ด ใน 24 ชั่วโมง หรือ 200 mg/kg ใน 24 ชั่วโมง (แต่ถ้าคูณเลขแล้วได้มากกว่า 10,000 mg ก็ให้ยึดที่ 10,000นะคะ)
นอกจากลดอาการปวดแล้ว ยาตัวนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยลดไข้ ทำให้เราสบายตัวมากขึ้นอีกด้วย แต่อย่างที่บอก มันไม่ได้ช่วยแก้สาเหตุ ดังนั้นก็ไม่แปลกถ้าไข้จากการติดเชื้อบางอย่างจะกลับขึ้นมาใหม่เมื่อยาหมดฤทธิ์ (มีฤทธิ์ ประมาณ 4-6 ชั่วโมง)

ข้อระวังของยาตัวนี้คือ คนที่เป็นโรคตับรุนแรง (อย่างที่ได้บอกไป) คนที่เคยแพ้ยานัวนี้ และคนที่กินยาละลายลิ่มเลือด อาจทำให้ฤทธิ์ของยาตัวที่กินอยู่ออกฤทธิ์ได้น้อยลงค่ะ

ยา เอ็นเซท (NSAID)
เรียกว่า NSAID หลายคนก็คงถามต่อว่า คืออะไร?? แ่ถ้าบอกว่าย่อมาจาก non-steroid anti-inflammatory drug ก็คงจะทำหน้างงกว่าเดิม 5555 แต่ถ้าบอกว่าคือ brufen, fenac, ponstan, aspirin, naproxen, celebrex และยังมีชื่ออื่นอีกมากมาย บางคนก็คงต้องร้องอ๋อ เพราะว่าเคยกินอยู่บ่อยๆ NSAIDเป็นชื่อกว้างๆของยากลุ่มนี้ ข้อดีของยากลุ่มนี้คือมีฤทธิ์แก้ปวดที่ได้ผลชะงัดกว่าพาราเซตมอล และยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบด้วย ดังนั้นก็ลดไข้ได้เหมือนกัน และช่วยรักษาบางโรคที่เป็นจากการอักเสบได้ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการใช้งานหนัก เป็นต้น

หลายคนอ่านแล้วก็รู้สึกว่า ทีหลังถ้าปวดก็ไปซื้อยากลุ่มนี้ดีกว่าเพราะฟังดูได้ผลดีกว่าพาราเซตมอลบ้านๆของเราเยอะเลย อ่านต่อก่อนจะตัดสินใจนะคะ เพราะข้อดีมากมายของมันก็แลกมาด้วย"อันตราย" ที่แฝงอยู่ อันดับแรกยาตัวนี้"กัดกระเพาะ" ทำให้เป็แผลในกระเพาะอาหารได้ ถ้ากินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ยิ่งถ้าเป็นอยู่แล้ว มีโอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้นได้ง่ายค่ะ ต่อมายากลุ่มนี้ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ผลคือ "เลือดออกง่าย และหยุดยาก" ถ้าไปรวมกับแผลที่กระเพาะอาหารแล้ว สามารถทำให้เลือดออกในกระเพาะมากจนอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดได้ทีเดียว (อย่าพึ่งตกใจนะคะ อันนี้คือในกรณีที่กินติดต่อกันนานๆ หรือ ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวมาก ถ้าเราแข็งแรงดีมาตลอด และกินระยะสั้นก็คงไม่ถึงขนาดนั้น) สำหรับคนแก่แล้ว ยานัวนี้จะมีผลต่อไต ทำให้ไตวายได้เลยทีเดียว

อ่านดูแล้วยาตัวนี้ก็นับว่าน่ากลัวทีเดียว แต่อย่างที่บอก ถ้าเราแข็งแรงดี สบายดี และกินแค่ระยะสั้นไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ก็ไม่เป็นอะไรมาก นอกจากนี้ก็มีทางเลือกคือรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหารไปพร้อมกัน ก็จะช่วยป้องกันการกัดกระเพาะได้ระดัยหนึ่ง ถ้าจำเป็นต้องใช้ยานี้นานจริงๆ สำหรับผู้สูงอายุ ยากลุ่มนี้ต้องระวังให้มาก เพราะก่อผลข้าวเคียงได้มากเลยค่ะ

Tramol และยามอร์ฟีน
อันนี้ตามท้องตลาดเราก็ไม่ค่อยได้เจอหรอกค่ะ ส่วนใหญ่จะสั่งโดยแพทย์ แต่รู้ไว้ประดับความรู้แล้วกันนะคะ 555 ยามอร์ฟีนเป็นยาแก้ปวดที่ดีมากๆตัวหนึ่ง นิยมให้หลังการผ่าตัดใหญ่ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (เราให้ปริมาณน้อยๆ คนไข้ก็จะไม่ติดยาค่ะ) และอีกกรณีคืิอให้เพื่อรักษาอาการปวดมะเร็งที่ว่ากันว่าทรมานมาก (ก็ฟังมาจากคนอื่น เห็นมาจากคนไข้อีกทีนะคะ ไม่เคยเป็นกับตัวเอง อิๆ) ซึ่งกลุ่มนี้ให้ระยะยาว หลายคนคงสงสัยว่าแบบนี้คนไข้ไม่ติดยาหรอ คำตอบคือ เราพยายามให้ปริมาณน้อยที่สุด ให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดน้อยที่สุด แต่ก็คงมีบางส่วนที่ติดจริงๆ แต่จุดประสงค์ของเราคือเราให้เพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ทุกคนรู้ว่าโรคมะเร็งทำให้ความตายมาหาเราเร็วขึ้น (แค่เร็วขึ้นเฉยๆ เพราะยังไงสุดท้าย ทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้น สาธุ อีกรอบ) การให้มอร์ฟีน ซึ่งความจริงแล้วเป็นสารเสพติดกับคนไข้นั้น ช่วยให้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาไม่ต้องทรมานจนเกินไป คือเทียบกันแล้ว การให้คุ้มค่ากว่า เราก็ต้องให้หน่ะค่ะ

ส่วน tramol ก็คือ มอร์ฟีนที่ดัดแปลงสูตรแล้ว มีโอกาสติดน้อยกว่า แต่ฤทธิ์ก็ไม่ดีเท่ามอร์ฟีน แต่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับลดอาการปวดที่เป็นมากๆ ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ก็เป็นอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ง่วง แต่ไม่ค่อยมีผลต่อไต ต่อกระเพาะ หรือการแข็งตัวของเลือดเท่าไหร่ โดยรวมแล้วสำหรับผู้สูงอายุ ออกจะปลอดภัยกว่า NSAID ด้วยซ้ำไปค่ะ

สรุปแล้วยาแก้ปวดแต่ละตัวก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป โดยทั่วไปก็ลองทานพาราเซตมอลก่อน ถ้าคิดจะใช้ที่แรงกว่านั้นก็แนะนำว่าให้ใช้เท่าที่จำเป็น และระยะสั้นที่สุด แต่ถ้าเกิดว่าเรามีโรคประจำตัวมาก หรือกังวลก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ค่ะ


1 ความคิดเห็น:

  1. brufen กับ ponstan ข้อบ่งใช้แตกต่างกันอย่างไรคะ อาการแบบไหนควรเลือกใช้ brufen หรือ ponstan ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ