วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อรู้ว่าเราเหลือเวลาไม่มาก

หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The last lecture เขียนโดย Randy Pausch บางท่านคงจะเคยอ่าน เป็นหนังสือที่บันทึกการสอนครั้งสุดท้ายของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่เขารู้ว่าเขากำลังจะตายจากโรคมะเร็งตับอ่อน ลองคิดดูเล่นๆว่าถ้าเราเป็นภรรยาของเขา เราจะเป็นยังไง และก่อนที่เขาจะจากไป เราจะทำอะไรบ้าง (ช่วงนี้ Drama หน่อยนะคะท่านผู้อ่าน เนื่องจากพอเริ่มเรื่องเกี่ยวกับการบอกข่าวร้ายแล้ว ก็เริ่มอยากเขียนแง่มุมนี้ที่หมอได้รู้ได้เห็นมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน)
 เมื่อรู้ว่าเขากำลังจะจากไป, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย, palliative care, diary doctor is me,

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแทบทุกวันในโรงพยาบาล มีหลายครั้งที่หมอต้องบอกผู้ป่วย และญาติให้เตรียมตัวเตรียมใจกับเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นไปได้ บางครั้งตอนนั้นผู้ป่วยก็ไม่รู้สึกตัวแล้วด้วยซ้ำไป แต่มีบางกลุ่มที่ยังคงรู้สึกตัวอยู่ สามารถพูดคุยได้ แต่ก็อ่อนกำลังเหลือเกิน ในเหตุการณ์แบบนี้ มีหลายสิ่งที่ต้องทำ

ยอมรับกับข่าวร้าย
แม้ว่าหมอและพยาบาลจะแทบกลั้นใจทุกครั้งที่จะต้องบอกความจริงกับผู้ป่วยและญาติ เรารู้ว่าทุกคำพูดของเราจะมีผลยังไง (และมันก็เป็นผลร้ายซะด้วย) แต่เราก็จำเป็นต้องบอก เพื่อให้ทุกคนเตรียมใจ คุณรู้มั๊ยปฏิกิริยาตอบกลับมีหลายแบบ ทั้งผู้ป่วยเอง และคนใกล้ชิดของผู้ป่วย ซึ่งมันก็เป็นธรรมดาที่คนเราจะเป็นเช่นนั้น บางคน"ไม่อยากยอมรับความจริง" เขามักจะถามว่า คุณหมอ"แน่ใจ" กับการวินิจฉัยแค่ไหน หรือ คุณหมอคิดว่ามีทางรักษาอื่นอีกบ้างมั๊ย บางคนก็ถึงกับเอาคนไข้ไปโรงพยาบาลอื่น หวังอยู่ลึกๆว่าหมออีกท่านจะบอกว่าเราวินิจฉัยผิด หรือบางคนก็หันไปกินยาสมุนไพร เขาทางไสยศาสตร์เพื่อปัดเป่าโรคร้าย บางคนก็โกรธ โกรธในโชคชะตา โกรธพระเจ้า โกรธตัวเองที่ต้องมาเป็นนแบบนี้ ต้องเจออะไรแบบนี้ บางคนก็ร้องไห้ เสียใจ หมดอาลัยตายอยาก บางครั้งก็ถึงกับอยากฆ่าตัวตาย แต่ไม่ว่าปฏิกิริยาแต่ละคนจะเป็นอย่างไร เราทุกคนก็เชื่อว่าสุดท้ายแล้วทุกคนจะยอมรับได้ ยอมรับว่าแม้เราจะมีโรคร้าย พ่อแม่เราจะมีโรคร้าย แม้ความตายอาจจะมาเร็วกว่าที่คิด แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไปอยู่ดี

กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ
กำลังใจจากทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งญาติพี่น้อง เืพื่อนหรือแม้แต่คนที่ไม่รู้จัก คนที่ต้องการกำลังใจก็ไม่ใช่แค่คนไข้เท่านั้น แต่พ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา ลูกหลานทุกคนของคนไข้ต่างต้องการกำลังใจทั้งนั้น ความตายที่มาใกล้ มาเร็วกว่าที่คิด ความกลัวว่ากำลัีงจะต้องทุกข์ทรมานในระยะเวลาอันใกล้  ความกลัวว่าจะต้องลาจากจากคนที่รักไป ความกลัวที่ชีวิตกำลังจะเปลี่ยนแปลง กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกๆคนกล้าที่จะยืนหยัด กล้าที่จะเข้มแข็งและบอกว่าไม่เป็นไร กล้าที่จะทิ้งความกลัวในอนาคตไป และอยู่กับปัจจุบันที่ทุกคนยังอยู่พร้อมหน้ากัน และยังยิ้มให้กันได้อยู่ และกล้าที่จะเผชิญไม่ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น และขอบคุณที่ยังคงมีวันนี้ที่ทุกคนได้อยู่พร้อมหน้า

เขารู้สึกไร้ค่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ป่วยบางคนมักคิดว่า ตัวเองไร้ค่า และเป็นภาระให้กับคนอื่น เขาอาจจะเคยเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน หรือเคยเป็นคนที่ดูแลทุกอย่างในบ้าน แต่วันนี้ึคนอื่นต้องมาดูแลเขา คุณค่าชีวิตของเขาตลอดขีวิตที่ผ่านมาคือการ"ให้" แต่เมื่อวันนี้เขาต้องมา "รับ" มันเป็นสิ่งไม่เคยชิน ถ้าเราเป็นคนที่มารับหน้าที่ดูแลเขาตอนนี้ อย่าลืึมนึกถึงจุดนี้ บอกให้เขารู้ว่าแม้คุณจะเหน็ดเหนื่อยอยู่บ้าง ลำบากขึ้นบ้าง แต่คุณก็เต็มใจ และดีใจที่ได้ทำให้เขา

เป้าหมาย
กลับมาที่เรื่อง The last lecture ความจริงแล้วมันเป็น Lecture ที่เป็นหนึ่งในความปรารถนาสุดท้ายของศาสตราจารย์ผู้นี้ อย่างที่หลายคนอาจเคยถูกถาม ถ้าคุณรู้ว่าเรามีชีวิตเหลืออีกแค่ 3 เดือน 6 เดือน คุณอยากทำอะไร นั่นแหละค่ะ ผู้ป่วยที่คุณดูแลอยู่ก็ไม่ต่างกัน เขามีความปรารถนาบางอย่างในชีวิต ลองให้เขาคิด อย่างน้อยช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็จะได้เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ สำหรับทั้งเขา และเรา

คิดล่วงหน้ากับหมอ และพยาบาล
อันนี้เป็นหน้าที่ที่หมอจำเป็นต้องคุย ล่วงหน้าเผื่อว่าวาระสุดท้ายมาถึง การแพทย์ของเราเจริญก้าวหน้ามาก เราพยายามต่อสู้ยื้อยุดกับมัจจุราชมาตลอด เพราะเราถูกสอนมาให้ทำแบบนั้น และแพทย์ก็พยายามคิดวิธีใหม่ๆ หาอาวุธใหม่ๆมาต่อสู้กับท่านมัจจุราชเสมอ แพ้บ้างชนะบ้างก็แล้วแต่ เวลาที่คนไข้จะสิ้นลมหายใจ เรามีแนวทางปฏิบัติ เพื่อดึงแย่งเขากลับมา (ขอใช้คำว่าแย่ง เพราะว่าแย่งจริงๆนะคะ) ไม่ว่าจะเป็นการใส่ท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ช็อกไฟฟ้า ให้ยากระตุ้นหัวใจ ทั้งหมดนี้เพื่อยื้อลมหายใจคนไข้ไว้ ไม่มีใครรู้ว่าการทำทั้งหมดนั้นลงบนตัวคนไข้ มันทรมานแค่ไหนสำหรับคนไข้ แต่เราก็รู้ว่าในบางรายที่เป็นโรคที่รักษาได้ (แน่นอนว่าไม่ใช่มะเร็ง หรือเอดส์) มันช่วยให้คนไข้ฟื้นคืน แต่สำหรับโรคที่รักษาไม่ได้ หรือผู้ป่วยที่อายุมากจริงๆ มันก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนได้

ความจริงแล้วคนไข้ และญาติสามารถเลือกได้ ว่าเราจะยื้อสุดใจ หรือจะปล่อยให้เป็นไปแบบธรรมชาติของโรคอย่างสงบ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่หมอ และพยาบาล ต้องวางแผนร่วมกับญาติ และแม้แต่คนไข้เองก็มีสิทธิเลือกว่าในลมหายใจสุดท้าย อยากให้หมอและพยาบาลพยายามดึงคุณกลับมา(แต่บอกไม่ได้ว่าจะกลับมามั๊ย) หรือว่าปล่อยคุณไปแบบสงบ

การแพทย์กับวาระสุดท้าย
ทางการแพทย์เรามีสิ่งที่เรียกว่า "การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ Palliative care" จุดประสงค์เพื่อใ้ห้ผู้ป่วยสุขสบายที่สุดเท่าที่ทำได้ ประเด็นหลักคืออาการ"ปวด" โรคบางโรคในระยะสุดท้ายสร้างความปวดอย่างมาก สิ่งที่หมอทำได้คือการให้ยาระงับความปวด นั่นอาจหมายถึงยาแรงๆอย่าง มอร์ฟีน (ทุกคนคงรู้จักในนามของสิ่งเสพติด แต่สำหรับทางการแพทย์แล้วเป็นยาแก้ปวดชั้นเลิศเลยทีเดียว) หรือยานอนหลับเพื่อให้ผู้ป่วยสบายตัว การให้ออกซิเจน ฯลฯ ถ้าคุณเป็นญาติ หรือคนไข้ อย่างลังเลที่จะพูดคุยกับหมอและพยาบาล เล่าปัญหา และสิ่งที่คุณต้องการ เพราะหมอและพยาบาลทุกคนจะรับฟังเสมอค่ะ

วันนี้เป็นเรื่องเศร้าๆ แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายคนนะคะ สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ