วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อเราอยากไปหาหมอคนใหม่

ถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่ต้องเดินเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ ไม่ว่าจะพาคุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ ลูก หลาน หรือแม้แต่ตัวเองไปพบแพทย์บ่อยๆ ด้วยการป่วยบ่อยๆ หรือมีโรคประจำตัว แน่นอนเราก็คงมีหมอประจำตัวอยู่ ไปทีไรก็จะพบแพทย์คนเดิม เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง ไม่แปลกที่วันดีคืนดีเราจะเกิดไม่แน่ใจในตัวคุณหมอที่ดูแลเราอยู่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่อาการไม่ดีขึ้นอย่างที่เราคาดไว้ หรือว่ามีคนรู้จักมาแนะนำเราว่าหมอที่นุ้นที่นี่ดี เราก็อาจจะอยากลองไปหาหมอคนอื่นดู บางทีเราก็อาจคิดว่าร้านตัดผมร้านประจำ วันไหนอยากเปลี่ยนไปร้านอื่นก็ไปได้เลย ไม่เห็นมีปัญหา แต่สำหรับเรื่องสุขภาพแล้ว มีบางเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมนะคะ

การไปพบหมอคนใหม่ที่ว่านี้ ความจริงแล้วมีอยู่ 3 แบบนะคะ
1. เป็นการไปขอความเห็นของหมอท่านอื่น ภาษาแพทย์เรียกว่า "second opinion" หมายถึงเราไปขอความเห็นจากบุคคลที่สอง เหมือนกับคิดสองหัว ดีกว่าหัวเดียวหน่ะค่ะ เพียงแต่หมอทั้งสองท่านนั้นไม่ได้รูจักกัน  ซึ่งความจริงเรายังไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแพทย์รักษานะคะ เพียงแต่ไปปรึกษาแพทย์อีกท่านเฉยๆ เผื่อว่าจะมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับการรักษา (และถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่า เราค่อยเปลี่ยนมารักษากับเขา) 

second opinion, เปลี่ยนหมอคนใหม่, ประวัติเก่า, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยเหล่านี้จะอยู่ระหว่างการรักษา ซึ่งความจริงก็อยู่ในสถานพยาบาลที่สามารถรักษาโรคนั้นๆได้อยู่แล้ว มีแพทย์เฉพาะทางดูแลโดยตรง และก็ไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนแพทย์ แต่เพียงแต่ต้องการความมั่นใจว่าที่รักษาอยู่เหมาะสมแล้ว

2. ส่งต่อผู้ป่วย อันนี้มักเกิดขึ้นจากการที่โรคของเรานั้นต้องใช้เทคโนโลยี หรือใช้ยาที่สถานพยาบาลเดิมไม่สามารถให้การรักษาได้ ส่วนใหญ่แพทย์จะเป็นคนส่งต่อผู้ป่วย หรือ แนะนำให้ผู้ป่วยไปรักษาต่อที่สถานพยาบาลที่ใหญ่กว่า และมีอุปกรณ์ รวมทั้งบุคลากรที่ครบครันกว่า 

3. ตัดสินใจเปลี่ยนที่รักษา อาจจะด้วยความไม่ประทับใจในตัวแพทย์ หรือเนื่องจากรู้สึกว่าผลการรักษาไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ เราก็เลยตัดสินใจจะไม่รักษาทีนี่อีกต่อไป ("เราเลิกกัน!!!") แล้วก็ตัดสินใจไปรักษาต่อที่อื่น

เอาหล่ะค่ะ ไม่ว่าเรากำลังทำแบบไหนอยู่ มีบางอย่างที่เราควรเตรียมพร้อมก่อนจะไปพบแพทย์คนใหม่ (ความจริงคุณหมอคนใหม่ก็คาดหวังจากเรา)ดังนี้ค่ะ

อันแรกคือ"ประวัติการรักษา" เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรถือไปด้วย เพราะว่าการรักษาโรคต่างๆนั้นเป็นการรักษาต่อเนื่อง การวินิจฉัยที่แม่นยำนั้นมาจากประวัติตอนแรกก่อนเริ่มรักษา พอเรารักษาไปบางส่วน ลักษณะอาการก็จะเปลี่ยนไป ทำให้การวินิจฉัยใหม่อาจผิดพลาด นอกจากนี้ประวัติการรักษายังช่วยบอกด้วยว่าเราได้รับการรักษาอะไรมาบ้าง อะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล ไม่อย่างงั้นเราก็อาจได้การรักษาแบบเดิม ก็จะไม่ได้ผลเหมือนเดิม (การเปลี่ยนหมอก็จะไม่มีประโยชน์อะไรนะคะ)

อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือผลเลือดและการตรวจพิเศษต่างๆ ทั้งการ x-ray, ultrasound , CT scan (ที่เรียกกันว่าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์) ฯลฯ การตรวจทั้งหมดนั้นเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ว่ารัฐบาลจ่าย หรือเราจ่ายเอง ถ้าไม่จำเป็นต้องตรวจใหม่ ใช้ผลอันเก่าก็ประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลากว่านะคะ(บางโรงพยาบาลต้องรอคิวทำเป็นเดือนเลยนะคะ แล้วจะหาว่าสวยไม่เตือน)

เพราะฉะนั้นก่อนจะไปพบแพทย์ท่านใหม่ อย่าลืมของประวัติการรักษา รวมทั้งผลเลือด และการตรวจพิเศษทั้งหมดด้วยนะคะ ไม่ต้องกลัวว่าโรงพยาบาลจะไม่ให้นะคะ ขอกับคุณหมอของเราเลย ประวัติการรักษาทั้งหมดเป็นสิทธิของเราค่ะ ถ้าขอกับแพทย์จะได้แน่นอนค่ะ แต่ถึงตรงนี้หลายคนก็กังวลต่อ ไม่อยากบอกหมอที่รักษาเราอยู่ ว่าเรากำลังจะไปพบหมอท่านใหม่ กลัวหมอจะ"งอน" ว่าเราไม่เชื่อเขา คิดจะไปรักษาที่อื่น ไม่ต้องกังวลค่ะ เราบอกไปตามตรงได้ว่าเราอยากไปปรึกษาหมออีกท่าน ขอประวัติการรักษา คุณหมอทุกท่านเข้าใจค่ะ และยินดีจะให้ความช่วยเหลือเสมอ

อันดับที่สองคือ "ยาที่กินอยู่" ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้จากหมอที่เรารักษาอยู่ ยาที่ซื้อมาเอง ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน ฯลฯ ทุกอย่างที่เรากินอยู่เป็นประจำ อย่าลืมเอาติดไปให้แพทย์ด้วยนะคะ อย่าคิดว่าบอกๆไปว่าเป็นอะไร ยาหน้าตาเป็นยังไง เดี๋ยวหมอก็รู้เอง อันนี้ก็ไม่เสมอไปนะคะ ยารักษาโรคหนึ่งๆมีหลายตัว และยาแต่ละตัวก็มีหลายยี่ห้อ ถ้าไม่ได้จดชื่อยาและขนาดจากแผงยามาให้เลย ให้หมอเดาๆเอาก็มีโอกาสผิดพลาดสูงนะคะ

สุดท้าย อันนี้สำหรับคนที่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ และต้องการเบิกค่าใช้จ่ายนะคะ บางสิทธิการรักษาอย่างบัตรทองเนี๊ย จะสามารถรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลที่สิทธิของเราอยู่เท่านั้น ถ้าเราคิดจะไปรักษาที่อื่นต้องมี "ใบส่งตัว" มาด้วย เราก็จะได้ไม่ต้องเสียค่ารักษานะคะ บางคนอ่านแล้วยังงง อธิบายคือ สิทธิการรักษาปัจจุบันของทุกคนจะอยู่ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามทะเบียนบ้านของเรา สิทธิอยู่ที่ไหนถือว่าเขาเป็นต้นสังกัดของเรา ถ้าเราไปรักษาที่อื่นเราก็ต้องจ่ายเงินเอง แม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐเหมือนกันก็ตาม ยกเว้นแต่ว่าจะมีใบส่งตัว คือโรงพยาบาลต้นสังกัดเราส่งเราไปรักษาที่อื่น ซึ่งเขาจะเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เราค่ะ ดังนั้นอยากใช้สิทธิ ก็ต้องมีใบส่งตัวนะคะ

ขอให้โชคดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บกันทุกคนนะคะ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ