วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อข่าวร้ายมาเยือน .....

วันนี้อยากจะขอมาแนว "จิตเวช" บ้าง เป็นอีกสาขาทางการแพทย์ที่เป็นเรื่องราวที่"จับต้อง" ไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวซะมากกว่า "เมื่อข่าวร้ายมาเยือน" แน่นอนเรารู้ว่าไม่ว่าข่าวร้ายนั้นจะเป็นเรื่องแบบไหน แฟนบอกเลิก แฟนมีกิ๊ก สอบตก เอนท์ไม่ติด บอลแพ้ ไม่ถูกหวย หรือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่าง คนใกล้ตัวเป็นโรคร้าย หรือ ถึงกับเสียชีวิต เราทุกคนก็จะมีช่วงเวลาที่คนทั่วๆไปเรียกว่า "ทำใจไม่ได้" ทางการแพทย์มีการศึกษาเรื่องนี้เหมือนกัน เราเรียกมันว่าเป็น "กระบวนการตอบสนองต่อความทุกข์" ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Grief reaction" แต่จะขอเรียกว่า "โรคได้รับข่าวร้าย" แล้วกันนะคะ แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร วันนี้จะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังค่ะ

รู้เรื่องนี้ แล้วทำอะไรได้?
ก่อนอื่นเราต้องรู้ประโยชน์ของมันก่อน ความจริงช่วงเวลาที่เราซึมเศร้าเสียใจกับข่าวร้าย ก็เหมือนกับโรคอย่างหนึ่ง เหมือนเราเป็นหวัด ก็จะมีช่วงที่เริ่มเป็น เป็นหนัก แล้วก็หาย เหมือนกับเรื่องโรคต่างๆที่เราได้เรียนรู้ไป เราจะสบายใจขึ้นถ้ารู้ว่าโรคนี้จะเป็นยังไงบ้าง พรุ่งนี้จะเป็นยังไง วันถัดไปจะเป็นยังไง แล้วตอนที่ใกล้หายจะเป็นยังไง หายแล้วจะเป็นยังไง ทำให้เราพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆที่ำกำลังจะเกิดขึ้นได้ และรู้ว่าสุดท้ายแล้ว "มันก็จะผ่านไป"
grief reaction, ปฏิกิริยาต่อข่าวร้าย, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้


การได้รับข่าวร้าย จิตใจของเราก็มีการตอบสนอง เรียกว่า"ป่วย" เลยก็ได้ การได้รู้ว่าอาการป่วยนี้จะเป็นยังไงบ้าง ทำให้เราสบายใจขึ้น ทั้งคนที่เป็นเองก็รู้ว่าตัวเองจะเป็นยังไงต่อไป และคนรอบข้างก็จะได้เข้าใจว่าคนใกล้ตัวของเราป่วยเป็นอะไร และพวกเขาจะต้องรับมือกับอะไรบ้าง ว่าแล้ว อาการป่วยเป็น "โรคได้รับข่าวร้าย" เป็นยังไงมาดูกันค่ะ 

เมื่อข่าวร้ายมาเยือน
คนทั่วไปจะมีการตอบสนองต่อการได้รับข่าวร้าย 5 ขั้น โดยที่ 5 ขั้นนี้อาจไม่ได้เรียงลำดับการเกิด สามารถเกิดสลับไปสลับมาได้ และระยะเวลาก็บอกได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเอง สภาพแวดล้อม และคนรอบข้าง โดย 5 ขั้นที่ว่าีมีดังนี้

1. ช่วงรับไม่ได้ (ฝรั่งเรียก Denial) ถ้าดูในละครไทยก็เป็นช่วงที่พระเอกรู้ความจริง แล้วนางร้ายก็ได้แต่คร่ำครวญว่า "ไม่จริ๊งงงง ไม่จริง เป็นไปไม่ได้ ....เป็นไปไม่ได้" อันนี้แหละค่ะ ช่วง "รับไมไ่ด้" แต่ในชีวิตจริง เราอาจไม่ได้แสดงออกอย่างงั้นว่ารับไม่ได้ บางคนเวลาที่คนที่รักต้องเสียชีวิตจากไป สิ่งที่ภาวนาอยู่ในใจในวินาทีแรกคือ "ขอให้ฉันแค่ฝันไป" หรือไม่ก็ "ขอให้เรื่องนี้ไม่เป็นจริง" หรือบางคนก็จะเคยได้ยินคำพูดเช่น "ลืมตาสิ ลืมตา อย่าหลับไป ตื่นขึ้นมาหาฉัน" ก็เป็นช่วงของอาการรับไม่ได้นั่นเอง

การปฏิเสธความจริง หรือที่บอกว่ารับไม่ได้นี้ เป็นปฏิิกิริยาของจิตใจของเราต่อข่าวร้าย เป็นความพยายามของจิตใจของเราที่พยายามจะหนีออกจากความเจ็บปวด  หนีออกจากความเสียใจ ตลกดีนะคะเหมือนกับเวลาที่เราจับของร้อนๆ ร่างกายจะตอบสนองด้วยการดึงมือหนึออกจากหม้อทันที ก่อนที่เราจะทันคิดด้วยซ้ำ สำหรับจิตใจคนเราก็ทำไม่ต่างกัน เมื่อได้กระทบกับความเศร้า ความจริงที่ไม่อยากให้เกิด มันก็กระโดดหนีทันทีเลยทีเดียว 

2.ช่วงโกรธ หลังจากช่วงปฏิเสธความจริงแล้ว เราก็เริ่มรับรู้ความจริง และความเจ็บปวดที่ท่วมท้นนั้นกลับมารวมกันและมักแสดงออกมาเป็นความโกรธ ความจริงแล้วความโกรธก็เป็นเกราะอย่างหนึ่งที่จิตใจเราสร้างขึ้น เพื่อกำบังจากความจริงอันเจ็บปวดของเรา ส่วนถามว่าโกรธอะไรนั้นก็แล้วแต่ความเชื่อความนับถือ และวิธีคิดของแต่ละคน บางคนโกรธเทวดาฟ้าดิน โกรธพระเจ้า โกรธเคราะห์กรรม บุคคลหนึ่งที่มักเป็นเหยื่อของความโกรธนี้คือ "หมอ" (เฮ้อ ซะงั้น) สำหรับช่วงนี้บางทีเราก็ต้องการคำอธิบายหลายๆอย่าง อย่าได้ลังเลถ้าคุณต้องการคำอธิบายบางอย่างจากหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์ นัดหมายเมื่อทั้งคุณและแพทย์มีเวลาว่าง ถามทุกอย่างที่อยากรู้ แพทย์ทุกคนยินดีตอบคำถามเสมอค่ะ (แต่อาจจะต้องหลังจากตรวจคนไข้คนอื่นๆเสร็จนะคะ)

3. ช่วงต่อรอง เมื่อเราเริ่มรับรู้ความจริง คลื่นของความรู้สึกเจ็บปวดไ้ด้ระบายออกจากช่วงความโกรธ ที่ตอนนี้เบาบางลงบ้าง ความจริงที่ต้องยอมรับมันก็ยังคงอยู่ตรงหน้า เราก็จะยังคงอาลัยอาวรณ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเรามักจะมีความคิดเช่น "ถ้าตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้นแต่ทำอย่างนู้นแทน เรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้น" "ถ้าเราพยายามกว่านี้ อาจจะดีกว่านี้" "ถ้า...." "ถ้า....." ส่วนหนึ่งในจิตใจเราพยายามต่อรองกับสิ่งศักดฺ์สิทธิ์ หรือพระเจ้าอยู่ว่าความจริงแล้วเราหยุดยั้งเหตุการณ์นี้ได้ หรือเราควบคุมมันได้ การต่อรองเป็นเกราะบางๆชั้นสุดท้ายที่กำบังเราจากความเจ็บปวดที่ต้องยอมรับมัน

4. ช่วงโศกเศร้า ช่วงสุดท้ายก่อนที่เราจะยอมรับกับความจริง มันเป็นช่วงเวลาที่เรารับรู้กับความสูญเสีย มีแบบที่หลายคนคิดฟุ้งซ่าน เสียดาย เสียดายช่วงเวลาดีๆที่ควรจะทำให้ดีกว่านี้ เสียดายที่ยังไม่ได้บอกรักเขา เสียดายที่ยังไม่ได้ทดแทนพระคุณ และบางแบบก็เป็นความเศร้าสลดที่เราอยากอยู่เฉยๆ ไว้อาลัยให้กับคนที่กำลังจากไป

5. ยอมรับ ช่วงนี้เป็นช่วงที่จิตใจอยู่ในภาวะสงบ และสามารถก้าวไปข้างหน้าและดำเนินชีวิตต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง

อย่างที่บอกว่าช่วงทั้ง 5 ช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดเรียงกัน อาจสลับไปมาได้ ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเราเอง เราเท่านั้นที่รู้ดีที่สุดว่าเราอยู่ในช่วงไหน ความจริงแล้วคนรอบข้างไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่าเรารู้สึกยังไง และเราเท่านั้นที่จะเป็นคนพาตัวเองให้ผ่านพ้นระยะต่างๆไปได้ แต่ถ้าเราอยู่ในฐานะคนรอบข้างทั้งหมดที่ำทำได้ก็คงจะเป็นการอยู่เป็นกำลังใจ และปลอบโยนเขาจนกว่าเขาจะยอมรับได้เท่านั้น

อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่างนะคะ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ