วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ไข้แบบไหน เป็นไข้เลือดออก

หลายครั้งที่เราเป็นไข้ไม่สบาย เวลาเป็นมากๆก็เริ่มสงสัยว่าเราจะเป็นอะไร"มากกว่า"ที่เคยๆเป็นมั๊ย โรคหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดคงหนีไม่พ้น "ไข้เลือดออก" ซึ่งเป็นโรคที่ว่ากันว่า ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ทีเดียวเชียว แล้วเราจะสงสัยว่าตัวเองเป็นไข้เลือดออกเมื่อไหร่?? ไปดูกัน


ไข้เลือดออป, โรคภัยไข้เจ็บ, ไข้เลือดออกต้องทำยังไง, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้

ไข้แบบไหน เป็นไข้เลือดออก
คำถามแรกคือ ทำไมเราถึงเป็นไข้?? อันที่จริงไข้เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่กำลังต่อสู้กับเชื้อโรคบางอย่าง ว่าง่ายๆคือเราเป็นไข้ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้อย่างหนักกับการติดเชื้อนั่นเอง ความจริงนอกจากการติดเชื้อก็ยังมีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เป็นไข้อีกได้ แต่สำหรับคนทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรงดีมาตลอด ไข้มักจะมาจากการติดเชื้อค่ะ

ทีนี้ปกติเวลาที่เรามีไข้จากการติดเชื้อ เราจะมีอาการที่แสดงถึงแหล่งที่มาของการติดเชื้อด้วย เช่น ถ้ามีไข้ไอเจ็บคอน้ำมูกไหล ก็เป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจ ถ้าเป็นไข้ปวดท้อง ท้องเสียก็เป็นการติดเชื้อทางเดินอาหาร ถ้าเป็นไข้ปัสสาวะแสบขัด ปวดบั้นเอว ก็เป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น แต่ไข้เลือดออกเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Dengue virus การติดเชื้อไวรัสนี้ไม่มีแหล่งติดเชื้อที่ชัดเจน มันกระจายอยู่ในกระแสเลือด!!! ดังนั้นอาการของเรานอกจากจะมีไข้สูงแล้ว(สำหรับอาการไข้สูง ถ้ากินยาลดไข้ ไข้มันก็จะสูงๆต่ำๆตามฤทธิ์ยาได้นะคะ) ก็ไม่มีอาการที่แสดงแหล่งติดเชื้อชัดเจน อาจจะมีเจ็บคอเล็กน้อยเวลาคอแห้ง ปวดท้องแน่นๆ หรือปวดหัว(ซึ่งพบได้ในคนที่เป็นไข้อยู่แล้ว) แต่จะปวดเมื่อยตามตัวทั่วๆ ไม่ค่อยมีแรง คอแห้งปากแห้งจากไข้ และมักมีอาการเบื่ออาหาร กินอาหารไม่ได้ อาการเหล่านี้ก็เริ่มน่าสงสัยแล้ว

อาการอื่นๆที่ช่วยบอกอีกคือ ได้ชื่อว่าไข้"เลือดออก" ก็จะมีจุดเลือดออกตามตัวได้ แต่พบไม่บ่อย หรือว่ามีคนในบ้าน หรือบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นไข้เลือดออกด้วย ก็จะน่าสงสัยมากขึ้น ส่วนเรื่องยุงกัดเยอะเนี๊ย บางครั้งก็ไม่ค่อยแน่นอนนะคะ เพราะบางทีเราก็จำไม่ได้(แต่ก็ยังคงต้องคว่ำไห คว่ำชามป้องกันลูกน้ำยุงลายนะคะ) แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องเป็นร่วมกับอาการที่เล่าไปตอนต้นนะคะ แต่สรุปแล้วอาการก็ต้องดูรวมๆกัน มีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาโอกาสจะใช่ก็น้อยลงไปนะคะ

แล้วที่ว่าเป็นแล้วจะช็อกได้ จริงหรือ
ตอบตรงๆตัวก็คือ จริง ค่ะ แต่ไม่ใช่ทุกราย โรคไข้เลือดออกมีอยู่ 3 ระยะคือ
1. ระยะไข้ ช่วงนี้จะมีไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ปากแห้ง กินอะไรไม่ค่อยได้ กินเวลาประมาณ 3-7 วัน โดยส่วนใหญ่นะคะ ถ้าในรายที่อาการหนัก (แปลว่าบางคนก็ไม่เป็นนะคะ) อาจมีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ เป็นต้น

2. ระยะช็อก ระยะนี้บางคนก็ไม่ผ่านระยะนี้ ข้ามไประยะที่สามเลยก็มี (ซึ่งคนส่วนใหญ่ เป็นแบบนั้น) แต่เราก็ควรเฝ้าระวังระยะนี้ไว้ เนื่องจากเราไม่มีทางรู้ได้ล่วงหน้าเลยค่ะ ว่าคนไหนจะมีหรือไม่มีระยะช็อก อาการของระยะนี้หลังจากพ้นระยะแรก ไข้จะเริ่มลง แต่จะมีอาการของภาวะช็อก (ช๊อกไม่ได้แปลว่าเป็นลมล้มพับ หมดสติไปนะคะ แต่ภาวะช็อกหมายถึงการมีความดันโลหิตต่ำเกินไปค่ะ) อาการมีได้ตั้งแต่ มีสติรู้ตัวตลอด แต่มือเท้าเย็น เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม บางรายชักได้ หรือบางรายอาจซึมลง ถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

3. ระยะหาย ระยะนี้คือช่วงที่โรคกำลังสงบ ผู้ป่วยจะไม่มีไข้แล้ว ความอยากอาหารจะกลับมา อาจปัสสาวะบ่อยขึ้น และปัสสาวะมาก อาการปวดเมื่อยตามตัวจะหายไป มีเรี่ยวมีแรงมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเริ่มมีผื่นขึ้นตอนนี้(แปลว่าถ้ามีผื่นขึ้นก่อนหน้านี้ก็คงไม่ใช่โรคนี้นะคะ) คนไข้ที่เป็นไม่มากส่วนใหญ่จะตกใจและมาหาหมอตอนมีผื่นขึ้น ซึ่งก็สบายใจได้เพราะแปลว่าเขาหายแล้ว (เย้) คนส่วนใหญ่มีแค่ไข้ แล้วก็กระโดดมาขึ้นนี้เลย ซึ่งถือว่าปลอดภัย

แล้วแต่ละระยะ ต้องทำตัวยังไง
สำหรับการติดเชื้อ Dengue virus เราไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรงเหมือนกับเชื้อแบคทีเรียที่เราเคยกินๆกัน การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่อาศัยภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเองต่อต้านเชื้อ สิ่งที่ทำได้คือป้องกันภาวะแทรกซ้อน และอันตรายบางอย่างที่เกิดจากเชื้อ แต่ละระยะก็จะมีการดูแลที่แตกต่างกันไปดังนี้ค่ะ

ระยะไข้ ช่วงนี้เราจะค่อนข้างทรมานกับความอ่อนเปรี้ยเพลียแรง สิ่งที่ต้องระวังช่วงนี้คือภาวะขาดน้ำ เพราะการมีไข้ทำให้เราเสียน้ำ และเราก็ยังไม่ค่อยอยากอาหารอีก แพทย์ส่วนใหญ่จะให้เรากินน้ำเกลือแร่ จิบบ่อยๆ ทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และควรงดการกินอาหารสีแดงสีดำ งงหล่ะสิ ไม่ได้ถือเป็นเคล็ดอะไรหรอกค่ะ เหตุผลเพราะว่า ถ้าเกิดบางรายที่มีเลือดออกทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดขึ้นมา เราจะแยกยากว่าสิ่งที่เห็น เป็นเลือดจริงๆ หรือแดงจากอาหารที่กินเข้าไป เท่านั้นเอง ช่วงนี้อาจไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดดูเกล็ดเลือดได้ เกล็ดเลือดมีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด การติดเชื้อไข้เลือดออกอาจทำให้เกล็ดเลือดต่ำลงได้ และยังบอกแนวโน้มการเข้าสู่ช่วงภาวะช็อกอีกด้วย

ระยะช็อก ช่วงนี้สิ่งที่ต้องระวังคือ ต้องระวังการเข้าสู่ภาวะช็อก อย่างที่ได้เล่าให้ฟังไป ถ้ามีอาการของระยะช็อคควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที แต่บางคนก็อาจได้นอนโรงพยาบาลตั้งแต่ระยะที่มีไข้ ถ้าอาการไม่ค่อยดี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์นะคะ

ระยะหาย ใครบอกว่าระยะหายจะไม่น่ากลัว สิ่งแรกที่ต้องระวังคือ เป็นระยะหายจริงๆรึเปล่า ถ้ายังไม่มีผื่นขึ้นยังไงก็อย่าพึ่งวางใจนะคะ สังเกตอาการหลังไข้ลงประมาณ 24-48 ชั่วโมง แต่ถึงแม้จะหายจริงๆแล้ว ก็อาจมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่ทำให้เกิดอาการเลือดออกง่าย ช่วงนี้ก็ควรระมัดระวังอุบัติเหตุและความเสี่ยงต่างๆต่อการเลือดออกนะคะ

หวังว่าวันนี้ทุกคนที่ติดตามอ่านจะได้คำตอบที่อยากรู้นะคะ สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ