วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

ไม่มีอะไร 100% ใน medicine

"ไม่มีอะไร 100% ใน medicine" ประโยคนี้ค่อนข้างคุ้นเคยกันในหมู่แพทย์ แปลความตรงตัวก็คือ ไม่มีอะไรแน่นอนในทางการแพทย์ ฟังประโยคนี้บางคนถามว่า คำว่า"อะไร" นี่หมายถึงอะไรบ้างหรือ หมายถึง เงินเดือนของแพทย์? ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงนี้ หมายถึง ตำแหน่งแพทย์? ชีวิตแพทย์? แน่นอนค่ะ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน แต่คุณเคยไหม

"ที่บอกว่าผมเป็นมะเร็ง แน่นอนแล้วเหรอครับ"
"แล้วผมจะหายแน่นอนเหรอครับหมอ?"
"ยานี้ไม่มีผลเสียแน่นอนใช่มั๊ยค่ะ"

ความไม่แน่นอนทางการแพทย์, ชีวิตหมอ, ความจริงทางการแพทย์, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้
เฮ่อ... ความจริงแล้วทุกคนก็ต้องการความแน่นอนกันทั้งนั้น แม้ว่ามันจะไม่เคยเป็นจริง ยิ่งเป็นเรื่องของร่างกาย เรื่องของสุขภาพ เรื่องของความเป็นความตาย ทุกคนก็ยิ่งต้องการความแน่นอน แม้ว่าความจริงมันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับทุกๆอย่างบนโลกใบนี้เลย

จริงๆแล้วสำหรับเรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วย เราอาจจะยอมรับความไม่แน่นอนได้ดีกว่าถ้าไม่ได้มาหาหมอเลย พอมาหาหมอก็คาดหวังว่าจะหมอจะรักษาได้ คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าหมอเป็นที่พึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ (ก็ใช่สิ! ไม่งั้นจะมาหมอทำไม) แต่ทุกคนก็ลืมไปว่าความจริงแล้วสิ่งที่หมอรู้ และการรักษาที่หมอให้ได้ก็ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนเหมือนกัน

หมอคิดว่าคุณน่าจะเป็น....
คุณรู้หรือไม่การวินิจฉัยของแพทย์เป็นสถิติอย่างหนึ่ง เรารู้ว่าคนไข้แต่ละคนที่เดินเข้ามาเป็นโรคอะไรจากการที่เรารู้ว่าคนไข้ที่เป็นแต่ละโรคนั้น "ส่วนมาก" มีอาการเป็นอย่างไร และจะตรงเจออะไร เช่น คนไข้ที่เป็นไข้เลืืือดออก "ส่วนมาก"มีไข้สูงลอย เบื่ออาหาร อาการไอเจ็บคอหรือน้ำมูกไหลไม่เด่นชัด "บางราย"ปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ถ้ามีคนไข้อาการตามที่เล่ามาเดินเข้ามาเราก็รู้ได้ว่าน่าจะเป็นโรคนี้ แต่อย่างที่เห็นไม่มีคำว่า "แน่นอน" ทุกอย่างมีโอกาสไม่ได้เป็นไปตามที่คนส่วนมากเป็น หมอทุกคนถูกสอนให้เผื่อใจไว้ เมื่อไหร่ที่เห็นมีอะไรบางอย่างแปลกไป เราอาจต้องรื้อทุกอย่างมานั่งคิดกันใหม่ ดังนั้น ไม่แปลกถ้าหมอจะพูดว่า "หมอคิดว่าคุณ'น่าจะ'เป็น....."

การรักษา
การรักษาเองก็มีความไม่แน่นอน ด้วยตัวโรค ตัวคนไข้ และตัวยา อย่างเช่น ถ้าใครมีญาติผู้ใหญ่เป็นเบาหวานอาจจะพอทราบ บางคนกินยาตัวเดียวร่วมกับออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร น้ำตาลในเลือดก็ดี แต่บางคนยาก็เพิ่มแล้ว เพิ่มอีก ทั้งออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร แต่น้ำตาลก็ยังไม่ดี หรือแม้แต่การผ่าตัด ก็เหมือนการทำกับข้าว บางวันอร่อย บางวันไม่อร่อย ถึงแม้คุณจะชำนาญทำทุกวัน ก็อาจมีซักวันที่พลาดไม่อร่อยเหมือนทุกวัน และหากเกิดบางวันเนื้อที่ซื้อมามีคุณภาพเปลี่ยนไป แน่นอนอาหารก็ไม่เหมือนเดิม กับหมอผ่าตัด เชื่อเถอะค่ะ หมอทุกคนมีความสุขเวลาที่คนไข้หายดี พวกเราทุกคนอยากเห็นคนไข้ยิ้มได้ สำหรับการผ่าตัด เราก็อยากให้ทุกอย่่างผ่านไปด้วยดี แต่ทุกอย่างก็มีโอกาสพลาดได้จริงๆ ไม่ใช่แค่คนไข้หรอกค่ะที่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับหมอแล้ว แม้เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่ก็อดรู้สึกผิดและเสียใจไม่ได้เช่นกัน

เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และป้องกันไม่ได้ มีเหตุการณ์บางอย่างที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถป้องกันได้ และไม่มีใครรู้ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เหมือนรถที่ขับๆอยู่ดีๆ จู่ๆก็มีป้ายโฆษณาหักลงมาทับพอดี คนขับตายคาที่อะไรประมาณนั้น ถามว่าใครผิด? ป้ายโฆษณา? คนทำโฆษณา? คนขับ? รถ? ถนน? พระเจ้า? (สงสัยท่านจะต้องเป็นแพะซะแล้ว) สิ่งเหล่านี้ได้แก่ การแพ้ยา การติดเชื้อขณะอยู่โรงพยาบาล น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดในคนท้อง ภาวะเลือดออกอย่างรุนแรงในผู้ป่วยไข้เลือดออก และยังมีอีกมากมายที่เข้าข่ายนี้ ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิด แต่ก็ป้องกันอะไรไม่ได้ นอกจากเฝ้าดูและคอยแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งบางอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หมอก็จนปัญญาจริงๆ

หลายท่านไม่เข้าใจความไม่แน่นอนเหล่านี้ นำมาสู่การฟ้องร้องหมอ (เป็นหมอนี่มันน่าน้อยใจจริงๆ) หลายคนประณามหมอที่ออกมาช่วยหมอด้วยกัน ความจริงเป็นเพราะหมอทุกคนรู้เรื่องของความไม่แน่นอนนี้ เราทุกคนเข้าใจกันดี และเราก็เข้าใจว่ามีหลายแง่มุมของวิชาทางการแพทย์ที่ไม่เหมือนวิชาอื่น คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และทุกคนก็ยึดติดกับการที่หมอควรจะรักษาได้"ทุกโรค" คิดว่าความเจ็บป่วยเมื่อถึงมือหมอแล้วควรจะไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ถ้าแย่ลงแสดงว่าเป็นความผิดของหมอ!!! รถเสียที่เข้าอู่ยังไม่แน่เลยว่ากลับออกมาแล้วจะดีได้ซักแค่ไหน ร่างกายคนเราแสนซับซ้อน อะไรก็เกิดขึ้นได้ค่ะ

เรื่องราววันนี้ออกจะหดหู่ซักหน่อย แต่เป็นสิ่งที่หมออยากให้ทุกคนเข้าใจ ทุกวันนี้เรากำลังต่อสู้กับพระเจ้าทุกวัน และยื้อชีวิตกับมจุราชทุกวัน ก็เพื่อรอยยิ้มของผู้เป็นทุกข์ที่เดินมาหาเรา ไม่มีหมอคนไหนอยากให้คนไข้ตาย ไม่มีใครอยากเห็นคนไข้ทรมาน ทุกคนอยากเห็นคนไข้แข็งแรง มีความสุข และกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม วันนี้ขอจบเท่านี้นะคะ สวัสดีค่ะ



1 ความคิดเห็น:

  1. ใช่ที่สุดครับคุณหมอ ไม่มีอะไร 100% ยกตัวอย่าง TFTs Test นี่แหละครับค่าแกว่งที่สุด เพราะมี หลายหลักการ หลายน้ำยา และหน่วยที่ใช้รายงานผล ในจะต้องคำนึงถึงอายุของผู้ป่วยด้วย แต่คุณหมอก็สู้ๆนะครับ

    ตอบลบ

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ