วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่เห็น ก็คงไม่ใช่สิ่งที่เป็น (T.T)

ชีวิตหมอ, วิชาชีพแพทย์, ความจริงของแพทย์, ชีวิตแพทย์, doctor is me



สมัยเด็กๆ มีใครบ้างค่ะที่ฝันอยากเป็นหมอ เด็กไทย(และเชื่อว่าประเทศหลายประเทศในเอเชีย)ยังอยู่ในแวดล้อมที่ผู้ใหญ่ชื่นชมอาชีพที่เป็นวิชาชีพ อย่างแพทย์ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก ฯลฯ เส้นทางที่ผู้ใหญ่หลายคนขีดไว้ให้เด็กๆคือ เรียนจบม.ต้น >>เรียนสายวิทย์>>>เอนท์ติดหมอ>>>สบายแล้วลูกเรา ผู้ใหญ่หลายท่านผ่อนผันเส้นทางนี้ เพราะเห็นว่าบุตรหลานของท่าน "หัวไม่ถึง เรียนไม่เก่ง" แต่เชื่อเถอะ เส้นทางอันดับหนึ่งที่อยากให้ลูกคุณเป็น ก็คงจะไม่พ้นเส้นทางนี้ หรือบางคนเองอาจเคยอกหักจากเส้นทางนี้มาก่อน (ความจริงคุณอาจโชคดีกว่าที่คุณคิด)

ในสายตาผู้ใหญ่ และคนทำงานบางท่าน มีความเห็นเกี่ยวกับอาชีพหมออย่างเช่น
"หมอหน่ะเหรอ กว่าจะออกตรวจก็สาย 9 โมง 10 โมง คนไข้มารอตั้งแต่ ตี 5 งานสบ๊ายสบาย"
"ก็เห็นนั่งในห้องแอร์เย็นๆ ถามๆ เอาหูฟังจิ้มๆ เขียนยา เสร็จละ ได้คนนึงตั้ง 500"
"ขับรถหรูทุกคน มีบ้านออกใหญ่โต เป็นหมอรวยออก"

มีคนมากมายที่คิดว่าอาชีพหมอสบายและรายได้ดี มั่นคง คนส่วนใหญ่ใส่อาชีพหมอไว้ในบัญชี "อาชีพในฝันสำหรับลูกน้อย" จริงไหมค่ะ ในฐานะที่ดิฉันเป็นหมอ มีความจริงที่หลายคนยังไม่รู้ และไม่เคยได้เห็นมาเล่าให้ฟังค่ะ

เรียนสนุกลุกนั่งสบาย ซะเมื่อไหร่???
สมัยเรียนม.ปลาย มองดูพี่ๆที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว สบายมาก เรียน 9 โมง เลิกบ่ายสาม เรียนวันละไม่กี่ชั่วโมง แต่งตัวสวยๆ สบายจริงๆ แต่ฝันของดิฉันสลาย.....เมื่อดิฉันเลือกเส้นทางนี้
การเรียนหมอไม่ได้ง่ายเลย ดิฉันคิดว่าเรื่องการต้องค้นคว้าอ่านด้วยตัวเองนั้นไม่ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยสาขาไหนก็คงหนีไม่พ้น แต่ชั่วโมงเรียนของวิชาชีพแพทย์นั้น มากกว่าชั่วโมงเรียนสมัย ม.ปลายเสียอีก

ช่วง 3 ปีแรก เรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4-5 โมงเย็น มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แม้ว่าชั่วโมงเรียนจะเยอะ แต่ถ้าเทียบกับเนื้อหาที่เรียนแล้ว เหมือนเอานิยายเรื่อง Harry Potter ทุกภาคมาแสดงเป็นหนังให้จบในตอนเดียว 2 ชั่วโมงครึ่ง มีอะไรที่ต้องกลับไปอ่าน ไปทบทวนอีกมากมาย

ขึ้นมาปี 4 - 5 ช่วงนี้เราเริ่มฝึกงานกับคนไข้จริง การเรียนเริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า (คุณตื่นรึยัง?) ไม่มีเวลาพักเที่ยงที่แน่นอน งานเสร็จถึงจะได้พัก (นั่นอาจหมายถึงบ่าย 3 ในบางวัน) เวลาเลิกก็ไม่แน่นอนเช่นกัน แล้วแต่ว่าหน้าที่ของเราสิ้นสุดเมื่อไหร่ (นั่นอาจหมายถึง 3 ทุ่ม) และถ้าเป็นวันที่ต้องอยู่เวร นั่นหมายถึง เที่ยงคืนถึงจะได้กลับไปนอนพัก และชีิวตก็เริ่มใหม่ 7 โมงเช้า วันถัดไป กิจวัตรวนไปเช่นนี้ตลอดปี ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ แต่เดี๋ยวก่อน!!!!! ที่ว่ายกเว้นนี่ ไม่ใช่ว่าได้นอนตีพุงตื่นสายอยู่บ้านนะคะ วันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ต้องมาปฎิบัติงานอย่างน้อยเกือบครึ่งวัน ตั้งแต่ 7 โมงเช้า(เหมือนเดิม) ถึงเที่ยงค่ะ Y.Y

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมภาพลักษณ์ของหมอในสายตาหลายๆคน จะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายที่ใส่แว่นหน้าเตอะ แต่งตัวเรียบๆธรรมดาๆ (อาจจะออกเชยๆ) นั่นเพราะพวกเขาไม่มีเวลา ขอเอาเวลาแต่งตัว ไปนอนจะดีกว่า 555 แต่หมอสมัยใหม่บางคนก็ไม่อาจปล่อยตัวเองให้เป็นแบบนั้นได้ เราก็ยอมรับว่าต้องตื่นเช้า นอนหน่อยกว่าซักหน่อย เพื่อให้ตัวเอง "สวย" ค่ะ ^o^

ปีสุดท้ายของการเป็นนักศึกษาแพทย์ เรียกกันว่า Extern ไม่มีคำแปลตรงตัว แต่เป็นมนุษย์ที่เกือบเป็นแพทย์แล้ว แต่ทำงานหนักที่สุด เป็นปีที่เรียกว่า ห้ามลา ห้ามขาด ห้ามขี้เกียจ เพราะถือว่าเป็นปีที่จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากที่สุดก่อนจะเป็นแพทย์จริงๆ อันนี้ก็เริ่มงาน และเลิกงานคล้ายๆปี 4-5 เหมือนเดิม แต่อยู่เวรคือ ถึงเช้าค่ะ !!! = ทำงาน 24 ชั่วโมงเหมือนเซเว่น แต่ไม่มีใครผลัดเวรนะคะ(ทนได้ไงนะเรา)

โอเคค่ะ ตอนนี้ถึงเวลาเรียนจบแล้ว ตอนที่เรียนทุกคนบอกว่าจบแล้วจะสบายขึ้น ปีที่หนักที่สุดในชีวิตคือช่วง Extern....... จริงหรือ???

ชีวิตหมอหลังจากที่ดิฉันจบ และทำงานอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ตอนนี้เริ่มงาน 7.00-7.30 เอ๊ะๆ บางท่านอาจถามว่า ทำที่ไหน?? ก็ไม่เห็นมาออกตรวจเลย อย่ามาโม้!!! คุณไม่เห็นหมอหรอกค่ะ ถ้าคุณไม่ได้เคยนอนโรงพยาบาล ตอนเช้าเราก็ไม่ดูคนไข้ที่นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อน พอ 8-9 โมงถึงได้ไปเจอทุกท่านที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ที่คุณเห็นนั่งถามๆ ฟังๆ แล้วก็สั่งยานั่นแหละค่ะ

วันดีคืนดีคุณมาแล้วไม่เจอหมอคนเดิม "อ้าววันนี้หมอไม่มาทำงาน" ขอเติมซักหน่อยค่ะ "หมอไม่มาทำงานที่ห้องตรวจ เพราะไปผ่าตัดอยู่/ดูคนไข้ที่หอผู้ป่วยอยู่" เราไม่ได้หยุดงานหรอกค่ะ เพราะว่ามีผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ดังนั้นเราก็เลยต้องมาทำงานทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จริงมั๊ยคะ ถ้าคุณเคยนอนโรงพยาบาล คุณเองก็คงเคยถามพยาบาลว่า "วันนี้คุณหมอจะมากี่โมง???" และคุณก็อาจจะผิดหวังถ้าคุณพยาบาลบอกว่า "วันนี้คุณหมอไม่มาค่ะ" แต่ถึงจะไม่มีหมอคนเดิมมาเยี่ยมคุณในวันนั้น แต่ถ้าคุณเกิดมีอาการผิดปกติขึ้นมาก็จะมีหมอเวร!! หมายถึง หมอที่อยู่เวรนะคะ มาดูคุณ

ถึงจะจบแล้วแต่การอยู่เวรก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่อย่างนั้นถ้าคุณมาโรงพยาบาลแล้วไม่เจอหมอเลย จะทำยังไง สถานพยาบาลทุกที่ต้องมีหมออยู่เวรตลอด24 ชั่วโมง และทุกๆวัน ไม่ว่าวันนั้นจะเป็นวันอะไรก็ตาม นึกถึงวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดอย่างวันมาฆะ วันพืชมงคล คุณอาจรู้สึกว่าไม่หนักหนาเท่าไหร่ เหมือนทำ OT แต่ถ้าวันนั้นเป็นวันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันคริสต์มาส ที่ครอบครัวและญาติพี่น้องทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า ยกเว้น "คุณ" ออกจะเจ็บปวดอยู่ซักหน่อย แต่มันก็เป็นทางเดินที่เราเลือกมาแล้ว.....ก็ทำงานกันต่อไป

เฮ้อ...เล่าไปก็เจ็บปวดเอง 555 คุณรู้มั๊ยว่าวันหยุดซักวันหนึ่ง ที่ได้ตื่นสาย ทำอะไรที่อยากทำ ได้อยู่กับครอบครัว ได้ไปเที่ยวกับแฟน โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่"มีค่า"มาก ยิ่งช่วงแรกจบใหม่ๆ ที่ต้องไปใช้ทุนต่างจังหวัด ไกลบ้าน ไกลคนที่เรารัก การได้กลับบ้าน อยู่บ้านติดกันซักเสาร์อาทิตย์หนึ่ง เป็นสิ่งที่คิดถึงเป็นเดือนๆ กว่ามันจะเกิดขึ้นจริง T_T

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ อยากให้พวกคุณเห็นใจหมอตาดำๆ และอย่าได้แปลกใจที่โรงพยาบาลเอกชนจะคิดเงินแพง อย่าได้แปลกใจที่หมอจะลาออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน อย่าได้แปลกใจที่หมอเปลี่ยนไปทำงานด้านความงาม หรืออย่าได้แปลกใจที่หมอหลายคนเลิกอาชีพหมอไปทำอย่างอื่น ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงภาระหนักในด้านเวลาเท่านั้น ยังมีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างชั่วโมงทำงานที่ได้เล่าไป

และสำหรับน้องๆที่กำลังมองหาอาชีพในฝัน หรืออยู่ตรงทางแยก ไม่รู้ว่าจะเรียนหมอดีหรือไม่ ถามตัวเองให้ดี ถ้าน้องไม่ได้รักอาชีพนี้จริง แต่น้องจะเลือกเพื่อคนอื่นรอบๆตัวน้อง ให้เขาดีใจ ให้เขาภูมิใจในตัวน้อง พี่ไม่เคยเข้าใจคำว่า "ถ้าเลือกแล้ว ต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต" จนกระทั่งได้เดินมาแล้วมองหันหลังกลับไป

ขอบคุณที่ทุกๆคน ติดตามอ่านจนจบค่ะ

วันหลังจะมาแบ่งปันประสบการณ์ "สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้" ต่อค่ะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ