วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปวดท้อง อะไรยังไง

ปวดท้อง, diary.doctor is me, อาการปวด, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้



ทุกๆคนคงเคยมีอาการปวดท้องมาก่อนในชีวิตนี้ มากบ้าง น้อยบ้างแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป 
ถามว่าปวดท้องแล้วทำไง คนส่วนใหญ่คงเริ่มจากทนก่อน เผื่อว่าอาการมันจะหายไปเอง หลังจากทนไปหน่อยแล้วยังไม่หายก็เริ่มมองหาตัวช่วย ถ้าเป็นเด็กก็คงขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้่วก็ถามหาเอาจากคนที่คิดว่ารู้มากกว่า หรือง่ายๆ คิดไม่ออกก็ไปที่ร้านขายยา ให้หมอยาช่วยจัดยาให้ ตามสไตล์คนไทยเรา ไม่ไหวจริงๆก็ค่อยไปพบแพทย์

คำถามที่หลายาคนมักจะถามหมอ หลังได้รับการตรวจคือ เป็นจากอะไร?

ก่อนอื่นมาตอบคำถามกันก่อนว่า อาการปวดท้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการปวดเป็นความรู้สึกของร่างกายที่รับรู้ผ่านทางเส้นประสาทที่แผ่ทั่วร่างกาย เหมือนสัญญาณโทรศัพท์ที่แผ่ไปทั่วประเทศ เมื่อส่วนไหนเกิดอาการปวดที่รีบโทรศัพท์ หรือส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อบอกให้สมองรู้ว่าส่วนไหนที่มีอาการปวด และอาการปวดเป็นอย่างไร เหมือนโทรเข้าหา Call Center อย่างไรอย่างนั้น

แต่สัญญาณแบบไหนบ้างที่สมองรับรู้ว่าเป็นความปวด??
ต้นกำเนิดของความเจ็บปวดในร่างกายของเราแบ่งออกเป็น  3 ประเภท คือ
1. ความเจ็บปวดโครงสร้างของร่างกาย (Somatic pain) (ที่ไม่ใช่อวัยวะภายใน) เช่น ความเจ็บปวดจากผิวหนัง กล้ามเนื้อ หรือ กระดูก 
ความเจ็บปวดแบบนี้ เราจะสามารถบอกตำแหน่งได้ชัดเจนว่าปวดตรงจุดไหน เจ็บที่ไหน และบริเวณที่เจ็บนั้นมักจะเป็นต้นตอของอาการเลย และอาการปวดมักจะปวดแบบจี๊ด หรือโดนมีดบาด ทั้งคมทั้งชัด
พวกนี้เหมือนโทรศัพท์มือถือ มีกันคนละเครื่อง เวลาได้รับแจ้งเหตุก็ชี้ได้เลยว่าใครเป็นคนแจ้งจากเบอร์โืทรศัพท์ที่แจ้งเหตุ
ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นบาดแผลตามร่างกาย แผลอยู่ตรงไหน เจ็บตรงนั้น บอกตำแหน่งได้ชัดเจน

2. ความเจ็บปวดจากอวัยวะภายใน (Visceral pain) เช่น ปวดตับ ไต ลำไส้ กระเพาะ พวกนี้จะบอกตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน ถ้าต้นตอของอาการปวดมากจากอวัยวะที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน อาการปวดจะแสดงออกมาเหมือนปวดที่เดียวกัน ลักษณะอาการจะปวดจะตื้อๆ แน่นๆ จุกๆ คล้ายๆกันไปหมด
เหมือนใช้โทรศัพท์บ้าน หรือสำนักงาน โทรไปแจ้งเหตุ ถ้าดูจากเบอร์โทรศัพท์ก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนแจ้ง รู้แต่ว่ามาจากตึกนี้ สถานที่นี้
ยกตัวอย่างเช่นอาการปวดท้องเป็นได้ทั้ง ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ โรคกระเพาะ โรคตับ ถูงน้ำดี ฯลฯ เพียงแต่ลักษณะรายละเอียดอาการของแต่ละโรคจะแตกต่างกันไป ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่าอาการปวดท้องของแต่ละคน มีต้นตอมาจากอวัยวะอะไร ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการแก่แพทย์ เป็นสิ่งสำคัญ การให้ประวัติที่ไม่ตรงความจริง อาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด และการรักษาที่ไม่ตรงจุดได้

3. ความเจ็บปวดจากอวัยวะข้างเคียง (Refer Pain) อันนี้ออกจะเข้าใจยากซักหน่อย เหมือนกับเหตุร้ายเกิดกับเพื่อนบ้าน แต่เพื่อนบ้านมาขอใช้โทรศัพท์เราโทรไปแจ้งเหตุ จริงปัญหาเกิดที่เพื่อนบ้าน แต่ถ้าดูจากเบอร์โทรก็เลยเหมือนเหตุเกิดที่เรา อันนี้ทางการแพทย์อธิบายว่าเส้นประสาทของอวัยวะ A กับ B ที่อยู่ใกล้เคียงกัน บางทีใช้ทางเดินเส้นประสาทร่วมกัน แต่พอไปถึงสมอง กลับแปลว่าความเจ็บปวดอยู่ที่ B ถ้า B ผิดปกติจริง อาการปวดก็จะตรงกับตำแหน่งความผิดปกติ แต่ถ้าความจริงเป็น A ที่ผิดปกติ อันนี้ก็จะเกิดอาการสับขาหลอกกันเลยทีเดียว
ยกตัวอย่าง บางคนอาจเคยประสบกับตัวเองที่รู้สึกว่าแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก แต่หลังจากแพทย์ตรวจแล้วกลับบอกว่า เป็นโรคกระเพาะ???? อันนี้ก็อธิบายด้วยกลไกเดียวกันนี้นั่นเอง

สำหรับอาการที่พบบ่อยๆอย่าง ปวดท้องบิดๆ อยากถ่าย แล้วก็ท้องเสียเป็นถ่ายเป็นน้ำ อันนี้ก็คงบอกได้ว่า ปวดท้องนี้มากจากลำไส้อักเสบ แต่ถ้าปวดท้องลิ้นปี่เวลากินอาหารรสจัดๆ หรือเวลาท้องว่าง ก็น่าจะเป็นอาการปวดจากโรคกระเพาะ แต่อาการปวดบางอย่างที่ไม่คุ้นเคย เช่นปวดจี๊ดๆตลอดเวลา ลองทนก็ไม่หาย ถ่ายก็ไม่ถ่าย อยู่ๆก็เป็นขึ้นมาไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย คิดไม่ออกว่าเป็นจากอะไร อันนี้อาจจะต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องต่อไปนะคะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ