วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยาแก้อักเสบคืออะไรหนอ??

หลายคนคงเคยกินยาที่เรียกกันว่า "ยาแก้อักเสบ" กันอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ปวดแขนปวดขา ปวดเข่า ปวดข้อ วันนี้อย่างให้ทุกคนเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ยาที่เรียกกันติดปากว่า "ยาแก้อักเสบ" นั้น ความจริงมีสรรพคุณอะไร

ตกลงยาแก้อักเสบคืออะไรกันแน่
จริงๆแล้วยาแก้อักเสบที่เรากินๆกัน ฮิตมากคือ Amoxicillin(เรียกกันสั้นๆว่า Amoxy เป็นยาแคปซูล มีหลายสีแล้วแต่ยี่ห้อ) ความจริงแล้วเป็น "ยาฆ่าเชื้อ" คือการออกฤทธิ์จริงๆเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย แต่เนื่องจากการติดเชื้อมักทำให้เกิดการอักเสบ (แต่การอักเสบอาจจะไม่ได้มาจากการติดเชื้อเสมอไป) ก็เลยมักจะพูดกันง่ายๆว่า ยาแก้อักเสบ

แล้วยาแก้อักเสบจริงๆมีรึเปล่า
ต้องตอบก่อนว่า "การอักเสบคืออะไร" การอักเสบเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อส่วนที่เกิดความผิดปกติ เหมือนกับเวลาเกิดอุบัติเหตุแล้วมักจะมีไทยมุง ยังไงอย่างงั้นเลยค่ะ เช่นถ้าร่างกายเราเกิดการติดเชื้อ มีเชื้อโรคแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายของเราจะส่งหน่วยต่อสู้ (คล้ายๆกับตำรวจในร่างกาย) ซึ่งก็คือเม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณทีเกิดความผิดปกตินั้น และก็จะเกิดการต่อสู้ของเม็ดเลือดขาวกับเชื้อโรคเหล่านั้น บริเวณทีเกิดการต่อสู้ขึ้นก็จะเห็นบริเวณที่เกิดการบวม แดง ร้อน และปวดขึ้นมา ส่วนใหญ่เวลาที่เชื้อกำลังเจริญเติบโตอยู่บนตัวเรา ก็จะไม่เห็นอาการอะไรหรอกค่ะ แต่อาการส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเราเริ่มต่อสู้ ก็เลยปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งทำให้เราทรมาน แต่ความจริงแล้วก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บอกว่าร่างกายของเรากำลังต่อสู้

แต่สิ่งที่เม็ดเลือดขาวต้องต่อสู้ก็ไม่ได้มีแค่การติดเชื้อเท่านั้น เช่นเวลาที่มีกระดูกหัก มีรอยฟกช้ำ จากอุบัติเหตุ หัวโน กล้ามเนื้อฉีก เอ็นฉีกจากการเล่นกีฬา  แบบนี้ก็ไม่ได้มีการติดเชื้อ แต่จะมีการอักเสบเกิดขึ้นเพื่อเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บของร่างกาย

ยาต้านการอักเสบ ที่ลดการทำงานของเม็ดเลือดขาวเหล่านี้ก็มีอยู่ และหลายคนอาจจะใช้กันอยู่ แต่เรากลับเรียกมันว่า "ยาแก้ปวด" เป็นยาแก้ปวดชนิดที่เรียกว่า "NSAID" (Non steroidal anti-inflammatory drug) เช่น Diclofinac, Bufen, Naproxen เป็นต้น ยาเหล่านี้จะทำให้การอักเสบลดลง ทำให้อาการ ปวดบวมแดงร้อน ลดลง แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ ส่วนใหญ่แล้ว แต่อาการปวดบวมแดงร้อนของการอักเสบจะลดลง แต่ร่างกายก็จะยังต่อสู้ และซ่อมแซมส่วนที่ซึกหรอได้เหมือนเดิมค่ะ

รู้อย่างงี้แล้ว.....
สิ่งที่ควรระวังคือ การกินยาแก้อักเสบ (ยาฆ่าเชื้อ) ควรกินเมื่อมีอาการของการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ คอแดง มีแผลติดเชื้อ เป็นหนอง หรือเป็นสิว แต่ถ้าเป็นการอักเสบอย่าง ปวดแขนปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบก็ควรกินยาแก้ปวด (ความจริงเป็นยาต้านการอักเสบของจริง) การกินยาฆ่าเชื้อโดยที่จริงๆแล้วไม่มีการติดเชื้อ ในระยะสั้นก็ไม่ได้มีผลข้างเคียงกับร่างกายมากนัก ถ้าไม่ได้แพ้ยา แต่การใช้ยาฆ่าเชื้อมากเกินไป จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ และหากเราเกิดการติดเชื้อจริงๆ อาจจะต้องกินยาฆ่าเชื้อที่แรงขึ้นไปอีก ก็จะส่งผลเสียในระยะยาวได้ค่ะ

ยังไงก็ตาม รักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะได้ไม่ต้องกินยาดีกว่านะคะ

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ ผมเคยผ่าตัดใส้ติ่งแตกมา ร่วมจะปีกว่าๆ มีอาการเจ็บจี้ด ที่บริเวณที่ผ่าบางครั้งที่ทานอาหารเผ็ด อย่างงี้เกิดจากอะไร ต้องทานยาอะไรครับ ผมอายุ50ปี

    ตอบลบ

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ