วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โรคที่เราเป็นต้องไปหาหมอด้านไหนนะ?? 2

ปัจจุบันนี้ใครๆก็อยากรักษากับหมอเฉพาะทาง ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่ตัวเองมากที่สุด แต่ว่ารู้กันรึยังค่ะว่าโรคที่เราเป็น ต้องไปหาหมอที่เฉพาะทางด้านไหน ครั้งที่(โรคที่เราเป็นต้องไปหาหมอด้านไหนนะ)แล้วเราได้เล่าไปแล้วเรื่องสาขาหลักทางการแพทย์ 4 สาขาคือ อายุรกรรม ศัลยกรรม สูตินรี และกุมาร วันนี้เราจะมาพูดถึงสาขาย่อยอีกมากมายกันต่อค่ะ
specialist, แพทย์เฉพาะทาง, diary doctor is me

โสต ศอ นาสิก
ชื่อ "โสต ศอ นาสิก" อาจจะูดูเป็นราชาศัพท์ไปซักนิดนึง ชื่อบ้านๆก็คือ "หู คอ จมูก" นั่นเอง สาขานี้รักษาอะไร ก็ตรงตัวตามชื่อเลย หู คอ และจมูก คำว่า "หู" ก็เหมาตั้งแต่ใบหูไปจนถึงหูชั้นใน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอาการเวียนหัวบ้านหมุนด้วย ดูไม่ค่อยเกี่ยวกับการได้ยิน แต่เป็นโรคของหูชั้นในเลยทีเดียว "คอ" ไม่ได้หมายถึงคอข้างนอกนะคะ แต่หมายถึงกล่องเสียงข้างในคอ รวมไปถึงหลอดอาหารด้วย "จมูก" ก็รวมทั้งจมูกและโพรงจมูก สาขานี้มีการรักษาทั้งผ่าตัด และไม่ผ่าตัดค่ะ

จักษุวิทยา
ก็คือ"หมอตา" นั่นเอง แต่หมอตาเขาไม่ได้รับตัดแว่นกันนะเธอ ตัดแว่นเป็นหน้าที่ของช่างเทคนิคเกี่ยวกับสายตา แต่หมอตารักษาโรคตาพวกต้อ การติดเชื้อของลูกตา ทำเลสิก ฯลฯ มีการรักษาทั้งผ่าตัด และไม่ผ่าตัดเหมือนกันค่ะ

ออโธปิดิกส์ุ
ก็คือ "หมอกระดูก" นั่นเอง อะไรที่เกี่ยวกับกระดูก และข้อ โดยเฉพาะที่รักษาด้วยการผ่าตัด จะเป็นของสาขานี้ทันที นอกจากนี้หมอกระดูกก็ยังดูแลเรื่องเส้นเอ็นด้วย เช่นข้อล็อค ข้อยึด 

เวชศาสตร์ฟื้นฟู
สาขานี้ตามชื่อคือ "ฟื้นฟู" หลายคนจะรู้จักในฐานะ"กายภาพบำบัด" อย่างนักกายภาพบำบัดที่นวด หรือสอนผู้ป่วยอัมพาตให้เดินเนี๊ย ก็ถือว่าอยู่ในสาขานี้ แต่อยู่ใต้การควบคุมของหมอสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูนะคะ สาขานี้ก็จะเป็นการ"ฟื้นฟู" สิ่งที่เสื่อมสภาพ เช่นเป็นอัมพฤกษ์ อ้มพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือมีภาวะปวดจากกล้ามเนื้อ หรือผิวหนังมาก รวมไปถึงการเลือกอุปกรณ์สำหรับคนพิการอย่างไม้เท้า รถเข็น ก็เป็นของสาขานี้ค่ะ

จิตเวช
สาขานี้ทุกคนก็รู้จักในฐานะ หมอที่รักษา"โรคจิต" หรือเรียกแบบบ้านๆจริงก็คือ "คนบ้า" ความจริงแล้วสาขานี้ก็ครอบคลุมภาวะทางจิตที่ผิดปกติ ประสาทหลอน โรคซึมเศร้า รวมไปถึงการบำบัดคนไข้ที่ติดยา ติดบุหรี่ ติดสุราด้วย

วิสัญญี
สาขานี้ก็อยู่คู่กับศัลยกรรมเลยทีเดียว เพราะการผ่าตัดเกือบทุกครั้งจะต้องมีการใช้ยาสลบ ยานอนหลับ หรือยาที่ทำให้ชา เพื่อให้สามารถผ่าตัดได้ หมอวิสัญญี หรือชื่อเล่นเรียกกันว่า "หมอดมยา" นอกจากจะมีหน้าที่ดมยาสลบแล้ว ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาภาวะเจ็บปวดหลังผ่าตัด และอาการเจ็บปวดเรื้อรังด้วย

รังสีวิทยา 
ว่าด้วยเรื่องการถ่ายภาพทางการแพทย์ ทุกๆเทคนิค คุณหมอสาขานี้จะเชี่ยวชาญ ทั้งดูแลการถ่ายภาพ (x-ray ) แปลผลภาพที่ได้มาไม่ว่าจะเป็น เอ็กซเรย์, เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์, เอ็กซเรย์ฉีดสี เอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็ก ฯลฯ นอกจากการถ่ายภาพทางการแพทย์แล้ว รังสีวิทยายังรวมไปถึงการฉายแสงรักษามะเร็งต่างๆด้วย


เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
เป็นสาขาที่คุมห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะ ความจริงแล้วสาขานี้ไม่ได้เชี่ยวชาญการรักษาโรคหรึ่งโรคใดโดยเฉพาะ แต่ว่าเชี่ยวชาญการดูแลประคับประคอง และช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉิน ก่อนที่จะวลส่งต่อผู้ป่วยให้กับแพทย์เฉพาะทางตามโรคที่ผู้ป่วยเป็น

จบเรื่องราวของแพทย์เฉพาะทางตรงนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเสริมคือ "หมอฟัน" เนี๊ย เขาแยกออกไปจากคณะแพทย์ เป็นสาขาของตัวเองนะคะ ไม่ได้เป็นแพทย์เฉพาะทางใดๆค่ะ แต่เรียนเป็นอีกคณะเลย อย่าสับสนกันนะคะ สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ