วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

การถ่ายรูปตับไตไส้พุง

เคยมั๊ยเวลาเป็นอะไรซักอย่าง ไปหาหมอแล้ว หมอก็บอกว่าให้ไปเอ็กซเรย์ก่อน จะได้รู้ว่าเป็นอะไร พอทำแล้วก็บอกว่าจะต้องทำเพิ่มอีก เป็นอัลตร้าซาวด์ เป็นเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นเอ็กซเรย์ฉีดสี เป็นเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็ก เอ็กซเรย์นุ้นนี่นั่นเต็มไปหมด แต่ละอันมันต่างกันยังไง วันนี้มาไขข้อข้องใจค่ะ

เอ็กซเรย์เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่หมอเรียกกันว่า Imaging ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการ"ถ่ายรูป"นั่นเอง แต่ทางการแพทย์เป็นการถ่ายรูปเข้าไปถึงตับไตไส้พุงกระดูกของคนไข้ (ไม่ค่อยสวยเหมือนกล้อง SLR หรอกค่ะ) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค การถ่ายรูปเหล่านี้ก็มีเครื่องถ่ายหลายชนิดมากมาย ซึ่งจะเล่าต่อไปนะคะ

หลักการแบบหมอๆ
มีความจริงหนึ่งที่ทุกคนควรจะรู้ "ไม่มีเอ็กซเรย์ใดที่สแกนทั้งร่างกาย แล้วบอกได้ว่าคุณแข็งแรง 100%" เอ็กซเรย์แต่ละแบบ เหมาะกับโรคแต่ละโรคไม่เหมือนกัน เหมือนกับอุปกรณ์ครัว ไม่มีหม้ออันไหนที่ทำทุกอย่างได้ดีในอันเดียว เราอาจจะพยายามหุงข้าวในกระทะได้ แต่มันก็อาจจะได้ผลไม่เหมือนหุงในหม้อหุงข้าว ทุกอย่างแม่ครัวรู้ดีที่สุดว่าควรจะใช้อะไร เหมือนกันค่ะ หมอจะเลือกการตรวจที่เหมาะกับโรคที่สงสัยมากที่สุด
เอ็กซเรย์, ถ่ายภาพรังสี, diary doctor is me, สิ่งที่คุณไม่รู้ แต่หมออยากให้คุณรู้

อีกประเด็นคือ หมอเหมือนกับนักสืบถ้าเคยดูหนังหรืออ่านหนังสือสืบสวน นักสืบจะรวบรวมข้อมูล แล้วประติดประต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะหาหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้ร้าย !! กระบวนการคิดของหมอก็เหมือนกันค่ะ เรารวบรวมข้อมูลจากปากคำของคนไข้ ตรวจที่เกิดเหตุ(ตรวจร่างกาย) รวบรวมแล้วคิดอย่างรวดเร็ว (ระหว่างที่นั่งคุยกับคนไข้นั่นแหละค่ะ) แล้วก็พยายามหาหลักฐานเอาผิด ซึ่งก็คือการส่งตรวจอย่างเจาะเลือด หรือ การ Imaging นั่นเอง ดังนั้นบางทีถ้าผู้ร้ายออกจะฉลาดซักหน่อย อาจจะต้องงมหาหลักฐานนานหน่อย ก็ใจเย็นๆนะคะ (กำลังพยายามอย่างมากทีเดียวค่ะ)

Imaging มีกี่แบบ
กลับมาเข้าเรื่องของเรา วันนี้จะขอเล่าเฉพาะอันที่เป็นพื้นฐาน ใช้บ่อยๆทางการแพทย์นะคะ การถ่ายรูป หรือ imaging ของแพทย์ เป็นการถ่ายรูปสิ่งที่มองไม่เห็นจากภายนอก ดังนั้นก็เลยต้องอาศัยคลื่นบางอย่างที่มีอำนาจทะลุทะลวง เข้าไปข้างในร่างกายได้ค่ะ

1. X-ray หรือรังสีเอ็กซ์ เป็นชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี มันเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง (เหมือนกับแสง และคลื่นวิทยุ ก็เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ความยาวคลื่นไม่เท่ากัน) สามารถทะลุทะลวงเนื้อเยื่อต่างๆได้ สิ่งที่กำบังมันได้คือ "โลหะ"

X-ray แบบพื้นๆที่เราเคยเห็นเป็นแผ่นฟิลม์รูปใหญ่ๆ ไปยืนให้เจ้าหน้าที่กดปุ่มหนึ่งทีก็เสร็จแล้ว อันนั้นเป็นเอ็กซเรย์ธรรมดา ส่วนใหญ่เอาไว้ดูกระดูกนะคะ ดูนิ่วบางชนิด และดูลักษณะบางอย่างของลำไส้ได้ แต่ถ้าจะถามว่า เลือดออกในสมองมั๊ย? เป็นไส้ติ่งรึเปล่า? หัวใจเป็นยังไง? อันนี้เอ็กซเรย์ธรรมดาจะบอกอะไรได้น้อยมาก(จะเรียกว่าไม่ได้เลยก็ได้)เพราะมันเป็นเนื้อเยื่ออ่อนๆ ไม่ใช่กระดูกค่ะ x-ray จะเห็นชัดๆต้องเป็นโรคทางกระดูกค่ะ

ต่อมาก็เป็น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Topography) ก็ยังใช้าคลื่น x-ray เหมือนเดิม แต่ทีนี้ไม่ได้ยิงทีเดียว เรียกว่า ยิงจนพรุนทีเดียว หลักการก็คือยิงหลายๆภาพ แล้วก็ใช้คอมพิวเตอร์เอาภาพมาประกอบให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น อันนี้เวลาทำเราจะได้เข้าไปใน"อุโมงค์" บางคนอาจจะเคยทำมาแล้ว

ละเอียดขึ้นอีกก็เป็น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์นี้แหละ แต่ว่ามีการฉีดสารเข้าทางหลอดเลือดดำด้วย วิธีนี้ก็เหมือนกับเราลงสีบนรูปปั้นปูนพลาสเตอร์ ทำให้เราเห็นรายละเอียดของหน้าตาส่วนโค้งส่วนเว้ามากขึ้น

2. อัลตร้าซาวด์ (ultrasound) อันนี้เป็นคลื่นสั่นสะเทือน เหมือนกับคลื่นเสียงแต่ถี่กว่า ส่วนใหญ่ใช้ดูอวัยวะต่างๆได้ ข้อดีคือทำได้ง่าย สะดวก เครื่องจะไม่ใหญ่มากและไม่ซับซ้อนมาก ปลอดภัยกว่ารังสี X-ray ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าโดนมากๆ (แบบทุกวันๆ วันละหลายๆครั้ง) อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ และทำให้เด็กในครรภ์พิการได้ แต่ultrasound ปลอดภัยสำหรับคนท้อง ที่เรามักจะได้ยินว่า "ซาวด์ดูรึยังว่าได้ลูกผู้หญิง หรือผู้ชาย"

3. คลื่นแม่เหล็กทางการแพทย์เรียกว่า MRI (Magnetic resonance imaging) อันนี้ได้รายละเอียดเนื้อเยื่อค่อนข้างมาก แต่ราคาเครื่องแพงมาก มีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ค่าทำก็ค่อนข้างแพงเช่นกัน มีข้อเสียอยู่ที่ใครที่มีโลหะอยู่ในตัว เช่นเคยเปลี่ยนข้อ ผ่าตัดกระดูกดามเหล็กมาเข้าไม่ได้นะคะ เพราะว่าแม่เหล็กจะดูดไปหมด มีโอกาสบาดเจ็บจากโลหะที่อยู่ในตัวพยายามจะวิ่งเข้าหาแม่เหล็กได้เลยทีเดียว

หวังว่าจะไขข้อข้องใจให้กับหลายๆคนได้นะคะ ขอให้ทุกคนแข็งแรง ไม่ต้องไปให้หมอถ่ายรูปนะคะ สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คิดยังไง บอกหมอได้ค่ะ